วุ้นแปลภาษาทำเว็บไซต์: 36 คำศัพท์ทำเว็บไซต์ยอดฮิตสำหรับเจ้าของแบรนด์ผู้งานรัดตัว

Website
April 10, 2024
Written for you by
S. Wirat, Managing Director
Learning English language concept.

สารบัญ

ถ้าคุณเข้ามาเจอบทความนี้ คุณอาจจะกำลังอยู่ในเฟสใหม่ของการตลาดดิจิตอลบริษัท หลังจากที่คุณมีความเชื่อว่า “โซเชียลมีเดียคือทางรอดเดียว” มายาวนาน ซึ่งเราไม่ปฏิเสธประโยชน์ของมันเลยครับเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับการทำการตลาดเชิงรุกสุด ๆ แต่แล้วคุณก็เจออะไรบางอย่างที่ทำให้คุณกลับมาคิดว่า เอ้อ เว็บไซต์ก็น่าสนใจดีนะ ไม่ว่าจะเป็น

  • เว็บไซต์แบรนด์ที่สวย ๆ
  • การไม่อยากพึ่งพาแพลตฟอร์มมากเกินไปจนเจอการปิดการมองเห็น
  • หรือแม้แต่ได้ยินเรื่องการทำ SEO มาบ้างและพบว่าน่าสนใจดี

เว็บไซต์นั้นเปรียบเสมือนหน้าบ้านออนไลน์ที่สำคัญไม่แพ้ตึกของออฟฟิศคุณเลย (และเว็บไซต์ก็สร้างผลลัพธ์ได้จริง ๆ ด้วยนะครับ) การทำเว็บไซต์ที่สวยงาม ใช้งานง่าย และเต็มไปด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนย่อมสร้างความประทับใจแรกพบที่ดีต่อลูกค้า, สร้างภาพจำ Brand ของคุณอย่างแข็งแรง และช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้อย่างมาก (ปิดท้ายด้วยการปรุงให้กลมกล่อมด้วยการทำ Web Animation หน่อย แบรนด์ของคุณก็จะมีรสสัมผัสเยี่ยมเหมือนร้านอาหารที่ได้ดาวจากแบรนด์ยางรถยนต์ชื่อดังเลย!)

การสื่อสารกับปัญหาการทำเว็บไซต์ให้ได้ดั่งใจ

Frustated of Worker in Meeting

ถึงแม้คุณจะมีความต้องการอยากสร้างเว็บไซต์บริษัทแล้วแต่มันยังมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งครับ เจ้าของธุรกิจทุกคนที่ไม่ได้จบสาย IT มาอาจจะรู้สึก “งุนงง” เมื่อต้องจ้างคนทำเว็บไซต์ เพราะเวลาคุยกันเนี่ย เขาสามารถพ่นศัพท์เทคนิคสุดเท่ที่ฟังดูยากเย็นเข็ญใจ ไม่แปลกที่คุณจะงงครับ บางครั้งฟังศัพท์เทคนิคจากทีมพัฒนาเว็บไซต์แล้วไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ได้เว็บไซต์ที่ไม่ตรงกับความต้องการ ดังตัวอย่างปัญหาการสื่อสารต่อไปนี้:
• คุณต้องการเว็บไซต์ที่ “ดูดี” แต่ไม่รู้ว่าต้องอธิบายความต้องการนี้อย่างไร
• ทีมพัฒนาเว็บไซต์พูดถึง “Responsive Design” แต่คุณไม่เข้าใจว่าคืออะไร หรือการทำมันออกมานั้นซับซ้อนอย่างไร
• คุณได้ยินว่า “อีคอมเมิร์ซ” แต่อาจจะมีภาพในหัวแค่แอพพลิเคชั่นเจ้าดัง แต่บอกฟีเจอร์ที่อยากทำไม่ถูก
• เว็บไซต์ที่ได้ไม่ตรงกับความต้องการของคุณ
• เว็บไซต์ใช้งานยาก ไม่สวยงาม ไม่ดึงดูดลูกค้า (Poor UX/UI)
• เว็บไซต์มีปัญหาทางเทคนิค ใช้งานไม่สะดวก ไม่เหมาะกับธุรกิจของคุณ
• เสียเวลา เสียเงิน และเสียโอกาสทางธุรกิจ

นี่เป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่อาจจะเจอระหว่างทำเว็บไซต์แบรนด์ของคุณ และมันส่งผมไปถึงปัญหาการบานปลายทั้งด้านงบประมาณและเวลาครับ วันนี้เราเลยขออาสามาเป็นแมวหุ่นยนต์จากโลกอนาคตพร้อมวุ้นแปลภาษาที่จะมาช่วยไขความหมายของ 36 คำศัพท์ที่มักเจอเวลาทำเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถสื่อสารกับทีมพัฒนาเว็บไซต์ได้อย่างมั่นใจ และได้เว็บไซต์ที่ตรงใจ (คนสมัยนี้เขายังรู้จักโดราเอม่อนกันอยู่ใช่ไหมครับเนี่ย)

ความเหมือนกันระหว่างการสร้างบ้านกับการทำเว็บไซต์

house

ก่อนไปเจอกับคำศัพท์ทำเว็บ เราอยากบอกรูปแบบการนำเสนอในบทความนี้ก่อนครับ การจะทำให้เห็นภาพง่าย ๆ เราคงต้องเปรียบเทียบกับอะไรสักอย่างที่คุณอาจคุ้นเคยดี เรามองว่าการสร้างเว็บไซต์เปรียบเสมือนการสร้างบ้านครับ หรือจะบอกว่าเป็นตึกก็ได้ คือถ้าคุณเคยสร้างบ้าน คุณจะรู้ว่ามันมีรายละเอียดเยอะแยะไปหมด ถูกไหมครับ? ตั้งแต่การวางแปลนก่อนสร้างบ้าน, การจัดการเรื่องผู้รับเหมากับช่าง หรือการเลือกซื้อและการเลือกใช้วัสดุ เป็นต้น เว็บไซต์ก็ไม่ต่างกัน การที่จะมีเว็บไซต์ที่ดีเว็บหนึ่งได้มันก็จะประกอบด้วยการทำโครงสร้างต่าง ๆ ภายในที่เขียนด้วยภาษาคอมพิวเตอร์, การวางแผนออกแบบดีไซน์ หรือการเลือกใช้วัสดุต่าง ๆ ในการพัฒนาและการฝากบนเซิฟเวอร์

ฉะนั้นผมจะพยายามเปรียบเทียบกับการสร้างบ้านให้เห็นภาพสำหรับคำศัพท์ต่าง ๆ นะครับ ถ้ามีตรงไหนยังสงสัยหรืออ่านแล้วไม่เคลียร์ ก็ทักมาถามกันได้ครับ จะพยายามหาคำตอบให้อย่างเต็มที่เลย

36 คำศัพท์พื้นฐานสำหรับทำเว็บไซต์ที่ควรรู้

เพื่อป้องกันปัญหาการสื่อสารผิดพลาด เรารวม 36 คำศัพท์สำหรับทำเว็บที่ควรรู้ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจศัพท์เทคนิคต่าง ๆ และสื่อสารกับทีมพัฒนาเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาดูกันเลยครับ

1. โดเมนเนม (Domain Name)

Domain name

ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตมา เราก็คุ้นเคยกับโดเมนเนมมาโดยตลอด มันคือชื่อแบบตัวอย่างนี้ครับ www.ชื่อโดเมนของคุณ.com เปรียบให้เห็นภาพที่สุดเราจะให้โดเมนคือเลขที่บ้าน เพราะถ้าไม่มีเลขที่บ้าน ก็ไม่มีใครเดินทางมาบ้านคุณได้นั่นเอง ตัวอย่าง: โดเมนเนมของ Google ไทยคือ google.co.th

2. เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting)

Many powerful servers running in the data center server room. Many servers in a data center. Many

เว็บโฮสติ้ง หรืออีกชื่อหนึ่งคือเซิร์ฟเวอร์ เปรียบเสมือนที่ดินบ้านครับ โดยเราจะเอาเว็บไซต์ของเราขึ้นไปติดตั้งหรือปลูกบ้านบนที่ดินนั้นนั่นเอง เรียกว่าการโฮสต์เว็บไซต์ ซึ่งตัวโฮสติ้งก็จะมีสเปคแตกต่างกันไป สเปคของเว็บไซต์จะเหมือนกับสเปคเวลาคุณไปซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน้ทบุ๊คเลยครับ มี CPU, Ram, Harddisk Storage และที่เพิ่มเข้ามาคือ Bandwidth (เป็นตัวเลขสำหรับบอกว่าเดือนหนึ่งจะสามารถเข้าถึงเว็บได้มากขนาดไหนครับ)

3. SSL หรือ SSL Certificates

ชื่อภาษาไทยคือใบรับรองความปลอดภัย การที่เรามี SSL บนเว็บหมายความว่า เวลาที่มีคนเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ของคุณ การเชื่อมต่อนั้นจะถูกเข้ารหัสและทำให้ยากกับการดักจับข้อมูลระหว่างทางว่าผู้ใช้คนนั้นกำลังใช้เว็บไซต์คุณอยู่หรือการแอบแทรกข้อมูลระหว่างทางโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้โดยผู้ไม่ประสงค์ดี (คล้ายการยืนยันความปลอดภัยระหว่างขนส่งข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์มาที่เครื่องของลูกค้านั่นเอง) (In Transit Encryption) ที่สำคัญสุดคือการติด SSL ไม่จำเป็นต้องเสียเงินครับ เพราะมีผู้ให้บริการฟรีอย่าง Let’s Encrypt ก็เพียงพอในเกือบทุก Use Case ของเว็บไซต์บริษัทแล้ว

4. เว็บไซต์ (Website)

มาถึงพระเอกของเรา เว็บไซต์คือบ้านของคุณบนโลกออนไลน์ ประกอบไปด้วยหน้าเว็บต่าง ๆ, เมนู, รูปภาพ, ข้อความ และโค้ดที่อยู่เบื้องหลัง เป้าหมายคือการสื่อสารด้านการตลาดหรือการให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าชมหรือลูกค้าของคุณ ซึ่งเว็บไซต์เราจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือเว็บไซต์แบบให้ข้อมูล (Brochure website หรือ informational website) และเว็บไซต์รูปแบบแอพพลิเคชั่น (Web Application) ที่มีฟังค์ชั่นหรือฟีเจอร์ใช้งานได้ เช่น E-Commerce เป็นต้น ผ่านมา 2 ทศวรรษแล้วครับตั้งแต่โลกอินเทอร์เน็ตมี search engine มา จนถึงวันนี้ การทำเว็บไซต์ก็ยังเป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่ดีที่สุดในการทำ SEO และหวังผลระยะยาวได้เสมอ และเราเชื่อว่าการทำ SEO ในยุค AI เว็บไซต์ก็จะยังคงเป็นสิ่งที่เครื่องมือ AI นำไปแสดงผลให้ลูกค้าเช่นกันในอนาคต

5. หน้าเว็บ (Web Page)

เปรียบเสมือนห้องต่าง ๆ ภายในบ้าน แต่ละห้องมีเนื้อหา, จุดประสงค์ และฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกัน หน้าเว็บยอดฮิตได้แก่ หน้าแรก (Homepage), หน้าเกี่ยวกับเรา (About us page), หน้าติดต่อเรา (Contact us page) และอื่น ๆ

6. ดีไซน์เว็บ (Web Design)

Portrait of young female designer using graphic tablet and working with color swatch.

เปรียบเสมือนการตกแต่งบ้าน ให้สวยงาม น่าอยู่ และใช้งานง่าย เหมือนกับการทาสี, เลือกเฟอร์นิเจอร์ และจัดวางแสงไฟ โดยจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนหาทิศทางการออกแบบ, การร่างแบบดีไซน์เพื่อให้คุณเลือกให้ตรงใจ และการออกแบบขึ้นมาเพื่อรับการอนุมัติจากคุณ การออกแบบเว็บไซต์จะแบ่งเป็น 2 อย่างใหญ่ ๆ ตามข้อ 13. และข้อ 15. ได้แก่ UX Design และ UI Design

7. การพัฒนาเว็บไซต์ (Web Development)

มาถึงการก่อสร้างบ้านกันบ้าง การพัฒนาเว็บไซต์นั้นไม่ต่างกันเลยครับ ถ้าการก่อสร้างมีตั้งแต่การปรับหน้าดิน, วางฐานบ้าน, ขึ้นโครงสร้าง จนไปจบที่การทาสีและตกแต่งภายใน การพัฒนาเว็บไซต์ก็มีความซับซ้อนไม่แพ้กัน (ยกเว้นคุณจะจ้างทำเว็บสำเร็จ)

  • การวางแผนก่อนพัฒนา เลือกสิ่งแวดล้อมอย่าง Hosting ที่เหมาะสม, ฐานข้อมูลที่เหมาะกับงาน และภาษาที่จะเขียนหน้าบ้านและหลังบ้าน
  • การประเมินงานจาก Design ที่ได้รับ
  • การพัฒนาโครงสร้างเว็บไซต์ด้วยภาษา HTML
  • การตกแต่งหน้าตาเว็บไซต์ให้สวยเหมือนดีไซน์ด้วย CSS และ CSS Framework เพื่อการดูแลต่อได้ง่าย
  • การพัฒนาฟังค์ชั่นด้วยภาษาอย่าง PHP หรือ JS และการพัฒนาเว็บอนิเมชั่น JS Library ต่าง ๆ
  • การตรวจสอบการใช้งานจากผู้พัฒนา ผู้ว่าจ้าง และลูกค้าจริง
  • การนำเว็บไซต์ขึ้นออนไลน์บน Hosting

8. คอนเทนต์ (Content)

คำนี้ทุกคนอาจจะคุ้นเคยกันดี คือรายละเอียดีเทลต่าง ๆ ในบ้านของคุณที่ผู้มาเยี่ยมเยียนสามารถชื่นชมได้ มันคือเนื้อหาบนเว็บไซต์ เช่น บทความ รูปภาพ และวิดีโอ เป็นต้น ยิ่งมีคอนเทนต์ที่ดีก็ส่งผลดีกับการทำ SEO เหมือนบทความเกี่ยวกับพื้นฐานการทำ SEO ที่เราเคยลงไว้เลยครับ

9. HTML

Computer code on screen

เป็นภาษาพื้นฐานของเว็บไซต์ที่ใช้สร้างโครงสร้าง เทียบให้เข้าใจง่าย ๆ เลยคือ เป็นเสาของตัวบ้านนั่นเองครับ (ถามว่าเขียน HTML เสร็จแล้วใช้งานได้เลยไหม ก็ตอบว่าใช้ได้ครับ แต่มีแต่ตัวหนังสือ เป็นบ้านก็คือเข้าไปนอนได้แต่ว่าไม่มีอะไรเลย)

10. CSS

html web design code for developers and designers.

มาถึงภาษาต่อไป อันนี้ของดีเลยครับ CSS คือภาษาที่เขียนมาเพื่อใช้ตกแต่งเว็บไซต์หน้าบ้านโดยเฉพาะ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับความสวยงาม CSS คือภาษาที่รับผิดชอบเรื่องนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสี, ฟอนต์, ขนาด, ช่องว่างและการเว้นระยะบนเว็บไซต์ หรือแม้แต่อนิเมชั่นเบื้องต้น เว็บไซต์ในฝันของคุณเป็นจริงได้ด้วย CSS ครับ

เพิ่มเติม: ปัญหาที่ตามมาของ CSS คือการปรับเปลี่ยนภายหลังอาจทำได้ยากหากไม่วางระบบให้ดี สิ่งที่แก้ปัญหานี้ได้คือพัฒนาด้วย CSS Class หรือ CSS Framework ครับ เหมือนเราอยากทาสีบ้านใหม่ ถ้ามาไล่ทาทีละกำแพงย่อมใช้เวลานาน แต่ในการทำเว็บเราสามารถทากำแพงเดียวและเปลี่ยนสีเหมือนกันทุกกำแพงได้ด้วย CSS Framework เลยครับ

11. JavaScript (JS)

Javascript functions, variables, objects

คือภาษาที่ใช้สำหรับการสร้างแอ็คชั่นหรือการกระทำบนเว็บไซต์ มันทำให้บ้านของเรามีฟีเจอร์หรือฟังค์ชั่น อยากเดินเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนแล้วไฟติดอัตโนมัติ เช่นกันกับลูกค้าเลื่อนเว็บลงมาเจอส่วนนี้ ก็มีอนิเมชั่นโผล่ออกมา เป็นต้น JS สามารถใช้ได้ทั้งการสร้างอนิเมชั่นขั้นสูง, สร้างคำสั่งให้ตอบสนองตามที่ผู้ใช้งานต้องการ หรือการเก็บดาต้า เป็นต้น

12. Front-end

หรือที่เรียกกันติดปากว่าหน้าบ้าน มันคือการแสดงผลจากการเขียนภาษา HTML CSS และ Javascript มัดรวมเข้ามาให้ดูดีเวลาเราเข้า Chrome หรือ Safari นั่นเอง (เห็นหน้าตาสวย ๆ นึกได้เลยครับว่าเบื้องหลังสามทหารเสือนี้ทำงานกันหนักมาก ๆ)

13. Back-end

หรือระบบหลังบ้านคือที่เก็บข้อมูล (Database) ที่สามารถตอบสนองต่อการดึงข้อมูลจากหน้าบ้านได้ ในพวกแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่มีระบบจัดการเนื้อหา (CMS อย่าง WordPress) จะถูกเขียนด้วยภาษาที่ต่างออกไปจากหน้าบ้าน โดยเลือกตามความถนัดของผู้พัฒนาและความเหมาะสมของโปรเจกต์นั้น ๆ (เช่น WordPress ใช้ MySQL)

14. UX Design (User Experience Design)

UX UI and Programming development technology.

การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน การออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลักว่าทำยังไงให้ใช้งานง่าย รวมไปถึงการทำให้เข้าถึงได้กับทุกคน (Accessibility Design) และให้ผู้ใช้งานอยากใช้เว็บไซต์ของคุณ การออกแบบ UX ที่ดีสามารถลดจำนวนคนที่ออกจากเว็บไซต์บริษัทคุณกลางคันได้มากเลยล่ะครับ

15. Wireframe

UI UX hand drawn wireframes

หรืออีกชื่อคือแบบร่างเว็บไซต์ แต่มันไม่ใช่แบบดราฟท์เหมือนงานเขียนทั่วไปที่ถ้าเขียนมาได้ดีก็จะอ่านรู้เรื่องและเสร็จไปเกือบ 80% แล้ว แต่ Wireframe นั้นต่างออกไปครับ หน้าตาของมันก็จะเป็นแบบในภาพ มีตัวหนังสือเป็นแถบดำ, รูปภาพก็จะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมแล้วมีกากบาทอยู่ตรงกลาง และปุ่มกดแบบคร่าว ๆ คือเราดูแล้วพอรู้ตำแหน่งสิ่งต่าง ๆ แหละ แต่มันยังไม่ใกล้เคียงคำว่าสวยของดีไซน์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเลย ดูจากรูปตัวอย่างสิ จุดประสงค์ของมันเพื่อการวางโครงร่างประสบการณ์สำหรับผู้ใช้นั่นเอง

16. UI Design (User Interface Design)

User Interface Design คือดีไซน์ที่นำ Wireframe มาตกแต่งด้วยดีไซน์ที่สวยงาม ใช้รูปจริง วิดีโอจริง และกราฟฟิคตกแต่งเพื่อจำลองหน้าเว็บไซต์ที่พัฒนาเสร็จแล้ว ให้เหมือนจริงที่สุดเพื่อลดงานครีเอทีฟของนักพัฒนาและฟันธงดีไซน์ที่จะออกมาสุดท้าย ต้องเหมือน UI Design นั่นเอง

17. Responsive Design/ Mobile Responsive Design

เทคนิคการทำให้เว็บไซต์แสดงผลได้ดีกับทุกขนาดหน้าจอ ทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ และแท็บเล็ต เหมือนบ้านที่สามารถปรับตัวได้ตามขนาดของที่ดิน ถ้าเรามีที่แคบลง เราก็สามารถย่อส่วนบ้านได้โดยฟังก์ชั่นยังครบ ยกตัวอย่างเช่น จากดีไซน์ในหน้าจอคอมที่ข้อมูลจัดเรียงเป็น 3 คอลัมน์ พอมาอยู่ในจอมือถือก็จะเรียงเป็นคอลัมน์เดียวแนวตั้งลงมา ซึ่งหากไม่ได้ถูกออกแบบ Responsive design มาทั้ง 3 คอลัมน์ในจอคอมก็จะยังคงเป็น 3 คอลัมน์ในจอมือถือครับ ทำให้ดูเป็นปลาเส้นยาวเฟื้อยอ่านไม่รู้เรื่องนั่นเองครับ

18. Section

คือส่วนของหน้าเว็บไซต์ซึ่งในหนึ่งส่วนก็จะมีจุดประสงค์หนึ่งอย่างเช่น ส่วนที่พูดถึง pain point, พูดถึงประโยชน์ หรือส่วนโชว์บทความ ซึ่งเจ้าส่วนเหล่านี้เราจะเรียกว่า Section นั่นเอง แต่เราอาจจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าครับ รู้ได้จาก Code หน้าบ้านกับจุดประสงค์ตอนอ่านนั่นเอง

19. Hero Section

คือ Section แรกสุดหรือบนสุดของหน้านั้น ๆ มีหน้าที่เพื่อดึงความสนใจให้ผู้เข้าชมเลื่อนลงไปอ่านต่อนั่นเอง ถ้าเปรียบเทียบกับรูปตัวอย่างที่แล้ว นี่คือ Hero Section ครับ

20. CTA หรือ Call to Action

ปุ่มหรือข้อความที่เชิญชวนให้ผู้ใช้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น “ซื้อเลย” “สมัครสมาชิก” “ดาวน์โหลดตอนนี้” เปรียบเสมือนป้ายที่บอกลูกค้าว่า “จ่ายเงินตรงนี้” “สมัครโปรโมชั่นด้านนี้” เป็นเหมือนลูกศรชี้ทางให้ทำสิ่งที่เราต้องการ

21. SEO หรือ search engine optimization

คือการปรับแต่งเว็บไซต์ของคุณทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกเพื่อทำให้ Google เห็นว่าเว็บไซต์คุณเป็นเว็บไซต์ที่คุณภาพดีและตรงตามคำค้นหาที่ผู้ใช้เสิชหาใน Google ยิ่งตรงตามเกณฑ์ Google มากเท่าไหร่ อันดับเว็บไซต์ของคุณยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น การทำ SEO เป็นหนึ่งในการตลาดระยะยาวที่คุ้มค่าที่สุดครับ หากต้องการรู้เพิ่มเติม กดที่ลิงก์นี้เพื่ออ่าน พื้นฐานการทำ SEO

22. CMS (Content Management System)

CMS หรือ Content Management System คือระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการคอนเทนท์ตามชื่อเลย นั่นคือซอฟต์แวร์ที่ถูกดีไซน์ให้หลังบ้านมีฟังก์ชั่นให้คนเข้าไปอัพโหลดบทความหรือคอนเทนท์อื่น ๆ ได้โดยง่าย ซึ่งหากไม่มีเจ้าซอฟต์แวร์หลังบ้านนี้ คุณก็จะต้องมีความรู้โปรแกรมเมอร์และโค้ดเป็นภาษา HTML ได้ ถึงจะมีข้อความไปโชว์หน้าบ้านนั่นเอง CMS ชื่อดังได้แก่ WordPress, Webflow, Magento, Wix และอื่น ๆ ถ้าอยากทราบความแตกต่างระหว่าง WordPress และ Webflow กดลิงก์เข้าไปอ่านต่อได้เลย

23. Plugin/Extension

ตัว CMS อย่าง WordPress จะมีฟังค์ชั่นเสริมเข้ามาให้คุณสามารถนำ Plugin หรือส่วนขยายมาติดเพื่อเพิ่มความสามารถได้ครับ และด้วยความที่เป็นซอฟต์แวร์เปิดทำให้ WordPress มีนักพัฒนามาทำ Plugin เยอะมากทั่วโลกให้คุณเลือกใช้ ยกตัวอย่างโปรแกรมปลั๊กอินเสริมที่ช่วยเพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้กับเว็บไซต์ ได้แก่ ปลั๊กินสร้างฟอร์มติดต่อเรา, เพิ่มลูกเล่นต่าง, ปลั๊กอิน Builder สร้างหน้าเว็บไซต์ และอื่น ๆ คล้ายกับการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามาเพิ่มในบ้าน ถ้าอยากดูดฝุ่นได้ก็ต้องซื้อเครื่องดูดฝุ่นเพิ่ม อนาคตอยากเพิ่มฟังค์ชั่นอะไรก็หาซื้อมาเสียบปลั๊กใช้งานได้เลย

24. WordPress

เป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ CMS เว็บไซต์ยอดนิยม ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถไปเขียนโค้ดต่อได้โดยมีลิขสิทธิ์แบบสาธารณะ (Open Source) ซึ่งเกือบ 40% ของเว็บไซต์ทั้งหมดบนโลกขับเคลื่อนด้วย WordPress ด้วยความยอดนิยมนี่เองทำให้มีผู้พัฒนาจำนวนมากทำซอฟต์แวร์หรือเรียกอีกอย่างว่า ปลั๊กอิน เพื่อขยายความสามารถของ WordPress ให้เป็นเหมือนแอพพลิเคชั่นที่คนปรับแต่งความสามารถได้ตามที่ที่คุณต้องการ แต่บางปลั๊กอินอาจจะไม่ฟรีนะครับ ซึ่งปลั๊กอินตัวท็อป บอกได้เลยว่าคุ้มค่าที่จะจ่าย ข้อดีอีกอย่างก็คือคุณสามารถหานักพัฒนา WordPress มาแก้ปัญหาหรือต่อยอดเว็บไซต์ของคุณได้โดยไม่ยาก และเว็บไซต์พัฒนามาแล้วจะเป็นของคุณ 100% ไม่ขึ้นกับแพลตฟอร์มหรือโฮสติ้งไหน ย้ายไปไหนก็ได้ ทำอะไรกับมันก็ได้ครับ

25. E-Commerce

Shopping Cart icon white on red. E commerce and online shop concept

อีคอมเมิร์ซคือเว็บไซต์ที่มีการซื้อขาย มีระบบตะกร้า และมีแคตาล็อกสินค้า รวมถึงระบบการชำระเงิน (Payment Gateway) ซึ่งเว็บไซต์ประเภทอีคอมเมิร์ซจะมีความซับซ้อนกว่าเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลทั่วไป และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือเว็บไซต์ต้องใช้งานได้ 24 ชั่วโมง ไม่งั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยตรง (Mission Critical Website) ซึ่งหากคุณจะพัฒนาเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ คุณต้องวางแผนโฮสติ้งและการดูแลให้รองรับความต้องการด้วย

26. Landing Page

คือหน้าเว็บไซต์ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ผู้เข้าชมเข้ามาที่หน้านี้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแลนดิ้งหรือการลงจอด หน้านี้อาจมีวัตถุประสงค์ได้ตามความต้องการ เช่นอาจจะเป็น Sale Pages, บทความที่น่าสนใจ หรือของแจก (Lead Magnet)

27. Sale Page

ตามชื่อเลยครับ เป็นหน้าที่ไว้สำหรับปิดการขายโดยเฉพาะ จะประกอบด้วยงานเขียนที่ทำการปรับแต่งมาเพื่อเพิ่ม conversion rate จากการยิงโฆษณา

28. Web Funnel

เป็นเซ็ทของหน้าเว็บไซต์เพื่อเป้าหมายทางการตลาดที่คุณหวังผลไว้ โดย Funnel แปลตรงตัวจะแปลว่า กรวย ซึ่งในที่นี้คือการดักจับและกรองลูกค้าที่สนใจจนกลายมาเป็นลูกค้าที่ใช่นั่นเอง เช่น หน้า 1: ใส่อีเมล -> หน้า 2: แจกของพร้อมขายของที่แพงขึ้น (Upsell) -> หน้า 3: ขอบคุณลูกค้า เป็นต้น พอจะคุ้น ๆ ไหมครับ แพทเทิร์นนี้

29. Google Analytics

คือซอฟต์แวร์ของ Google ในการเก็บข้อมูลการใช้งานหน้าบ้านของเว็บไซต์ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลคุณลักษณะของผู้เข้าใช้เว็บไซต์ ช่องทางที่คนเข้ามาในเว็บไซต์คุณ และพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ เป็นต้น

30. Google Search Console

คือซอฟต์แวร์ของ Google ในการวัดผลและรายงานผลประสิทธิภาพของเว็บไซต์คุณบนหน้าการค้นหา Google ว่ามีคนเห็นประมาณเท่าไหร่บ้างและมีคนคลิกประมาณเท่าไหร่ รวมถึงการวัดเว็บไซต์ของคุณกับเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้คุณนำข้อมูลไปปรับพัฒนาเว็บไซต์ด้วย

31. Bug

Lots of computer bugs and viruses.

เป็นศัพท์เฉพาะที่ติดปากและไม่อยากเจอที่สุดของนักพัฒนาเว็บไซต์ มันคือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการเขียนโค้ด ซึ่งก่อให้เกิดการทำงานผิดพลาดหรือช่องโหว่ที่ถูกเจาะได้ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นตอนพัฒนาเสร็จ แต่เป็นในภายหลังก็เป็นได้เหมือนกัน เพราะทุกซอฟต์แวร์ตามธรรมชาติแล้ว ต้องมีการอัปเดตฟังก์ชันและความปลอดภัยอยู่สม่ำเสมอซึ่งอาจตามมาด้วยการเกิดบั๊คที่เล็ดลอดจากการทดสอบครับ (มันไม่ได้มีตัวแมลงจริง ๆ นะครับ เป็นเพียงคำพูดเปรียบเปรย)

32. Webhook

One Way

คือช่องทางหนึ่งในการสื่อสารระหว่างซอฟต์แวร์ แต่การสื่อสารของ Webhook นั้นเป็นการส่งจดหมายไประบายความในใจให้เพื่อนฟังไปรษณีย์คือ มีผู้ส่งและมีผู้รับ แต่ผู้รับจะไม่สามารถส่งจดหมายคืนมาระบายกลับได้ รับฟังได้อย่างเดียว Webhook เป็นแบบนั้นครับ เป็นการสื่อสารออกไปทางเดียวให้อีกซอฟต์แวร์รู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นโดยไม่มีการสื่อสารกลับ (การสื่อสารกลับทำได้ด้วยการเซ็ต Returning web hook จากการ trigger อีกที)

33. API หรือ Application Programming Interface

red, orange, yellow cubes, and API letters Or application programming interface

เป็นการสื่อสารที่ตรงกันข้ามกับ Webhook ซึ่งคนน่าจะเดาได้แล้วสินะครับ มันคือการสื่อสารแบบสองทางนั่นเอง ถึงแม้ API จะซับซ้อนกว่าแต่ก็เป็นวิธียอดนิยมของทุกซอฟต์แวร์ในการเชื่อมต่อซอฟต์แวร์สองอันเข้าด้วยกัน เป็นเหมือนกันโทรศัพท์หรือ LINE หากันเลยครับ

34. Firewall

Firewall popup for security cybercrime protection

ไฟร์วอลล์คือ พี่รปภ.หน้าหมู่บ้านที่คอยรักษาความปลอดภัยและตรวจคนเข้ามาหมู่บ้านของคุณซึ่งมีสิทธิ์ชี้ขาดในการให้ใครก็ได้ที่เข้าเกณฑ์เข้ามาบนเว็บไซต์คุณได้ มันเป็นแอพพลิเคชั่นซึ่งส่วนใหญ่ติดตั้งอยู่บน Server ที่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับผู้เข้าชมเว็บไซต์หรือผู้เข้าถึงไฟล์ใน Server ตัวอย่าง Firewall ดี ๆ ที่แนะนำคือ Sucuri, Immunify360 และ 7G Firewall by Perishable Press

35. CDN

World map, global communication and international business concept

เป็นเหมือนชุมสายเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ทั่วทุกแห่งบนโลกเรียก (เรียกเป็น Node) หากคุณมีการเชื่อมต่อเว็บไซต์ของคุณกับ CDN แล้ว ข้อดีของมันคือเวลาที่มีผู้เข้าชมบนเว็บไซต์ ตัวเว็บของคุณจะถูกส่งตรงจากตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดกับคนเข้าชม ทำให้ความเร็วเว็บไซต์โหลดแบบด่วนจี๋ และมั่นใจได้ว่าผู้เข้าชมไม่ว่าจะจากที่ไหนในโลกก็จะได้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณแบบเร็วที่สุด CDN ที่เราแนะนำได้แก่ bunny.net, cloudflare และ quic.cloud

36. DNS Management

คือการจัดการโดเมน ซึ่งชื่อโดเมนในข้อ 1 นั้น ถ้าเราซื้อโดเมนมาจากนายทะเบียนแล้วมันจะไม่สามารถใช้ได้เลย เรายังต้องมีการสร้างสร้างสิ่งที่เรียกว่า Record ต่าง ๆ เพื่อชี้โดเมนไปยังปลายทาง หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือชื่อโดเมนที่ Server ที่เว็บไซต์คุณอยู่นั่นเอง

ก่อนจากกัน

ผมหวังว่าศัพท์เทคนิคการทำเว็บไซต์ทั้งหมดนี้พร้อมคำอธิบายแบบเปรียบเทียบจะช่วยให้คุณคุยกับทีมพัฒนาเว็บได้อย่างเข้าใจ เหมือนมีวุ้นแปลภาษาเลยทีเดียว การสื่อสารที่ดีจะทำให้เว็บไซต์ของคุณออกมามีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วงตรงตามใจต้องการครับ!

แชร์คอนเทนต์ให้ทุกคนได้อ่าน

โพสต์อื่นที่น่าสนใจ