การเลือก CMS ระหว่าง WordPress และ Webflow เป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่น่าหนักใจที่สุดสำหรับการสร้างเว็บไซต์บริษัทเลย เพราะการเลือก CMS ที่ใช่อาจจะดูเหมือนงานหินสักหน่อย ถ้าคุณไม่เข้าใจจริง ๆ ว่ามันต่างกันอย่างไร จะหนีเสือปะจระเข้หรือเปล่า กลัวในอนาคตไม่วายจะต้องมาเสียงบทำใหม่นี่สิ แต่ไม่ต้องห่วงครับ! เดี๋ยวผมจะมาอธิบายให้ฟังซึ่งรับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้ว คุณจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าแพลตฟอร์มไหนเหมาะสมกับความต้องการและเป้าหมายเฉพาะของคุณที่สุด
โน้ตจากผู้เขียน: เราขอแจ้งคุณก่อนเลยครับว่า เราใช้ WordPress ในการทำเว็บไซต์ให้ลูกค้า แต่วันนี้เราไม่ได้มาเล่าให้ฟังแบบลำเอียง ตรงกันข้ามเลยครับ เรามองว่าการที่ WordPress มี Webflow เป็นคู่แข่งที่มีความสามารถคล้ายกัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นการแข่งขันที่ผู้บริโภคมีแต่ได้ครับ เราจะพยายามเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละตัวด้วยการใช้งานจริงซึ่งเราจะมีการออกความเห็นถึงสิ่งที่เรามองเป็นระยะ ๆ ยังไงก็ตามแต่การเลือกตัวใดตัวหนึ่งในในทั้งคู่ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ
ชินกฤต – COO, Care Digital
CMS คืออะไรและทำไมถึงสำคัญขนาดนั้น
CMS หรือ Content Management System เป็นศัพท์ยอดฮิตของการทำเว็บไซต์ที่คุณอาจเคยได้ยิน การทำเว็บไซต์นั้น ภายหลังจากที่เราดีไซน์และพัฒนาเว็บไซต์หน้าบ้านที่สวยงามแล้ว มันก็ถึงเวลาที่ต้องใช้งานถูกไหมครับ? ถ้าเราจะลงคอนเทนต์แต่หลังบ้านเราไม่มีและต้องลงโดยการเขียนโค้ดมันก็คงไม่สะดวก หากคุณมีระบบหลังบ้านเป็นระบบ CMS คุณก็จะลงคอนเทนต์ได้โดยง่ายเหมือนเวลาพิมพ์งานลอง Microsoft Word ครับ
ความสำคัญของ CMS จึงเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเว็บไซต์ที่ทำให้ฝ่ายการตลาดไม่ต้องมานั่งเรียนโปรแกรมมิ่งเพื่อลงคอนเทนต์แต่ละครั้ง งั้นเราลองมาเปิดตัว 2 ผู้ท้าชิงกันดีกว่าครับว่า แต่ละฝ่ายมีจุดแข็งอะไรกันบ้าง ระหว่างมุมแดง WordPress ผู้เชี่ยวชาญที่ครองใจมานาน กับมุมน้ำเงิน Webflow ดาวรุ่งที่กำลังมาแรงในการพัฒนาเว็บแบบวิชวล
WordPress: ปรมาจารย์เว็บไซต์และ CMS ผู้เก๋าเกม
WordPress อยู่คู่วงการมาตั้งแต่ปี 2003 และค่อย ๆ วิวัฒนาการจากแพลตฟอร์มบล็อกธรรมดา ๆ กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ขับเคลื่อนเว็บไซต์กว่า 43% บนอินเทอร์เน็ตได้ในปัจจุบัน ส่วนแบ่งการตลาดที่น่าประทับใจนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเป็นซอฟต์แวร์แบบ open-source หรือซอฟต์แวร์เปิดสาธารณะที่ทำให้มีชุมชนนักพัฒนา นักออกแบบ และผู้ใช้ทั่วโลกคอยช่วยกันปรับปรุงแพลตฟอร์มอยู่เสมอ (ไม่ได้เป็นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง) สำหรับบริษัทของคุณแล้ว นี่เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งครับ เพราะหมายความว่าแผนก IT มีทรัพยากร, Documentation และบทเรียนเกี่ยวกับ WordPress ที่หาดูได้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต (เช่น Youtube) และหากจะหานักพัฒนามารับช่วงต่อ มันก็หาได้ง่ายเหมือนโบกวินมอเตอร์ไซค์!
แนวคิด Open-Source และขับเคลื่อนการพัฒนาโดยสาธารณะ
อย่างที่กล่าวไป หนึ่งในข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดของ WordPress คือการเป็น open-source ซึ่งแปลว่าชุมชนนักพัฒนา นักออกแบบ และผู้ใช้ทั่วโลกต่างก็ช่วยกันพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีขึ้นอยู่เสมอครับ มีคนทำ Plugin หรือส่วนขยายมากมายที่คุณสามารถติดตั้งลงบน WordPress คุณได้ไม่กี่คลิกและเพิ่มฟังค์ชั่นแบบไม่ต้องจ้างโปรแกรมเมอร์มาทำในราคาหลักหมื่นถึงแสน
อีกข้อที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ คุณอาจจะกำลังคิดว่าการที่เปิดสาธารณะแบบนี้ แฮ็คเกอร์ก็จะสามารถมาดูโค้ดและจ้องเล่นงานได้ ความจริงคือตรงกันข้ามครับ เพราะจำนวนคนที่คอยดูช่องโหว่หรือคนทำ Security Audit มันมากกว่าผู้ไม่ประสงค์ดีเหล่านั้นครับ และผลพลอยได้คือการเกิดความโปร่งใสด้านความปลอดภัยเพราะมีคนคอยแจ้งช่องโหว่ตลอดนั่นเอง ต่างจากการพัฒนาแบบปิดโดยบริษัทเดียว หากมีช่องโหว่ ส่วนใหญ่เขาไม่แจ้งครับเพราะมันเป็นการเสียชื่อเสียงนั่นเอง คุณเลยอาจจะได้ยินเรื่องช่องโหว่น้อยกว่า WordPress ยกเว้นโดนจับโป๊ะครับ
ความยืดหยุ่นและการปรับแต่ง
จุดเด่นที่ใหญ่ที่สุดอีกอย่างของ WordPress คือความยืดหยุ่นที่ไม่มีใครเทียบได้ ด้วยธีมและปลั๊กอินนับพัน คุณสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ให้ตรงกับแบรนด์และทำได้ทุกฟังก์ชันที่คุณต้องการ ไม่ว่าคุณจะกำลังสร้างเว็บไซต์โบรชัวร์ธรรมดา ๆ หรือแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่ซับซ้อน WordPress ก็ตอบโจทย์ได้หมดครับ
Webflow: ดาวรุ่งพุ่งแรงวงการทำเว็บ
Webflow ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 แพลตฟอร์มนี้ใช้แนวทางต่างออกไปโดยเน้นไปที่การออกแบบและการพัฒนา Low-Code คือไม่ต้องมีความรู้เรื่องการ Code เยอะก็ใช้ได้ มีรูปแบบการใช้งานแบบลากวางได้เลย เหมาะกับดีไซเนอร์ที่ไม่รู้เรื่องโปรแกรมมิ่งก็ใช้ได้ ทำให้คุณสามารถจัดเรียง Layout ของเว็บไซต์ได้โดยตรงและเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์
Builder เว็บไซต์ที่มีฟีเจอร์ครบครัน
ถึงแม้ Webflow จะมีฟีเจอร์แบบลากวางได้โดยไม่ต้องรู้โค้ด (Drag and Drop) แต่ถ้าคุณอยากลงลึกเรื่องการ Code ก็ทำได้ครับ เพราะมีฟังก์ชั่น Custom Code รองรับและมี Animation Library มาพร้อมเลย อยากจะทำอนิเมชั่นอะไรก็ไม่ต้องไปหา JS Library ติดให้ยากครับ พร้อมใช้ทันที
โฮสติ้งและการดูแลรักษารวมอยู่ในตัว
อีกหนึ่งข้อดีใหญ่ ๆ ของ Webflow คือการเป็นแพลตฟอร์ม Software-as-a-Service (SaaS) นั่นหมายความว่าคุณไม่ต้องกังวลเรื่องการหาโฮสติ้งที่แยกออกมาหรือการจัดการอัปเดตและความปลอดภัยด้วยตัวเอง Webflow จัดการสิ่งเหล่านั้นให้คุณหมด ทำให้คุณมีเวลามากขึ้นที่จะโฟกัสกับธุรกิจ ไม่ต้องมีรายจ่ายการจ้างแอดมินมาคอยดูแลให้นั่นเอง
ความแตกต่างระหว่าง WordPress และ Webflow
เลือกดูตามหัวข้อที่สนใจได้จากสารบัญด้านบนของบทความได้เลยนะครับ กดที่นี่
คุณสมบัติด้านการพัฒนาเว็บไซต์ (Website Development)
- WordPress: Ecosystem คือจุดที่ WordPress เด่นที่สุด ถ้าคุณกังวลว่า “ต้องการฟีเจอร์เพิ่ม WordPress จะมีไหมนะ” คำตอบคือ WordPress น่าจะมีปลั๊กอินสำหรับฟีเจอร์นั้นแล้ว แถมยังมีธีมให้เลือกเยอะมากด้วย คุณสามารถปรับแต่งหน้าตาตามแบรนดิ้งของไซต์ได้อย่างง่ายดาย และถ้าคุณมีทักษะเขียนโค้ด (หรือจ้างคนทำเว็บไซต์) คุณก็สามารถพัฒนาเว็บเป็นอะไรก็ได้ตามที่คุณจะจินตนาการเลยครับ แถมคุณยังสามารถเลือก Site Builder Plugin ที่มีให้เลือกเกินกว่า 10 ตัวอีก (นับเฉพาะ Builder ที่น่าเชื่อถือและสร้างออกมาได้ดีอย่าง Elementor, Bricks Builder, GeneratePress, Beaver Builder, Breakdance และอื่น ๆ)
- Webflow: ให้ความสำคัญกับการออกแบบและการพัฒนาลากวาง ซึ่งทำให้คุณสามารถทำให้เว็บไซต์ออกมาเป๊ะตามที่ต้องการได้ง่ายสุด ๆ และอัดแน่นฟีเจอร์ที่คุณน่าจะไม่ต้องไปตามหาที่ไหนอีก แต่คุณอาจเจอข้อจำกัดถ้าคุณมีความต้องการฟังก์ชันเฉพาะทางหรือฟังค์ชั่นจาก Framework หรือ Software อื่น มันก็จะเอามาติดใน Webflow ไม่ได้ครับเนื่องจากเป็นแบบ closed-source (Proprietary SaaS)
- สรุป:
- เลือก WordPress สำหรับคนชอบออปชั่นการพัฒนาไม่จำกัด
- เลือก Webflow ถ้าอยากจบพร้อมใช้เลย ไม่ต้องหาเพิ่ม
ฟีเจอร์ด้านเว็บไซต์อนิเมชั่น (Website Animation)
- WordPress: การเพิ่ม Animation ขั้นสูงให้กับเว็บไซต์ WordPress มักจะต้องใช้ปลั๊กอินเพิ่มเติมหรือการเขียนโค้ดขึ้นเองซึ่งเพิ่มความซับซ้อนและอาจจำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคบ้าง ส่วนจะเอา JS Library อะไรมาติดตั้งก็ตามแต่ที่ต้องการเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น GSAP, Motion.one, Framer Motion หรือ Rive
- Webflow: หนึ่งในฟีเจอร์เด่น ๆ ของ Webflow คือความสามารถด้านแอนิเมชันในตัว คุณสามารถสร้างอนิเมชั่นที่ลื่นไหล, สร้าง Interactive Element และทั้งหมดนี้ทำได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ดสักบรรทัด คุณก็สามารถยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้บนเว็บไซต์ของคุณได้โดยง่ายเลยครับ
- สรุป:
- เลือก WordPress สำหรับคนที่มีอนิเมชั่นที่ชอบในใจ
- เลือก Webflow ถ้าอยากจบพร้อมใช้เลย ไม่ต้องหาเพิ่ม
การดูแลเว็บไซต์
- WordPress: การดูแลไซต์ WordPress จำเป็นต้องอัปเดตซอฟต์แวร์หลัก ปลั๊กอิน และธีมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทุกอย่างทำงานลื่นไหลและปลอดภัย อาจจะปวดหัวหน่อยถ้าคุณไม่ถนัดด้านเทคนิค และบางครั้งการอัปเดตก็อาจทำให้เกิดปัญหาจนต้องแก้ไขหากไม่ได้ดูแลโดยผู้ชำนาญ
- Webflow: เนื่องจาก Webflow เป็นแพลตฟอร์มแบบจัดการให้เสร็จสรรพ ทาง Webflow จึงดูแลการอัปเดตและการแพตช์ด้านความปลอดภัยให้หมด ซึ่งทำให้คุณเบางานลงมากและไม่ต้องจากคนมาคอยดูแลให้ประจำแลกกับค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม ข้อเสียคงเป็นเรื่องหากเกิดปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข คุณก็ต้องติดต่อทาง Webflow ให้จัดการให้ ทีนี้ซึ่งการเสียงตอบรับบน Trustpilot เว็บรีวิวบริการชื่อดังที่ 2.1/5 คะแนนครับ กดที่นี่เพื่อดูรีวิวทั้งหมดบน Trustpilot
- สรุป:
- เลือก WordPress สำหรับผู้มีงบประมาณ (อารมณ์จ่ายค่าเช่าบ้าน)
- เลือก Webflow ถ้าอยากมีคนดูแลให้เลย (ส่วนเรื่องคุณภาพ พิจารณาจากรีวิวอีกที)
ความปลอดภัยของเว็บไซต์และผู้ใช้งาน
- WordPress: เนื่องจากความนิยม WordPress จึงมักตกเป็นเป้าหมายของแฮ็กเกอร์และผู้ไม่หวังดีซึ่งส่วนใหญ่หากดูแลสม่ำเสมอและมาตรการด้านความปลอดภัยเว็บไซต์ที่ดีก็หายห่วงครับ ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันในหมู่นักพัฒนาครับว่า ตัว WordPress Core ปลอดภัยมาก หากมีช่องโหว่ก็จะมีการอุดด้วยอัปเดตอย่างไว ส่วนใหญ่ที่โดนแฮ็คเพราะลงปลั๊กอินไม่ดีรวมถึงไม่อัปเดตครับ เรามีการอัปเดตช่องโหว่ใหญ่ ๆ อยู่เสมอในบล็อกของเรา ลองอ่านแต่ละอันและประเมินความน่ากลัวดูได้ครับ ส่วนใหญ่จะมีอัปเดตป้องกันแล้ว ด้วยลักษณะ open-source มันตามมาพร้อมข้อดี-ข้อเสียดังนี้ครับ
- ข้อดี
- โปร่งใสเพราะมีการ Audit จากบริษัทด้านความปลอดภัยเสมอ
- มีนักพัฒนาทั่วโลกพร้อมช่วยกันรายงานผลและแก้ไขช่องโหว่
- มีนักพัฒนาปลั๊กอินเก่ง ๆ รวมไปถึงด้านความปลอดภัยให้คุณเลือกมากมาย ไม่จำกัดอยู่แค่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ความยืดหยุ่นมากกว่าในะระยะยาว
- ข้อเสีย
- ด้วยความโปร่งใส เลยมีข่าวช่องโหว่เยอะกว่าแพลตฟอร์มอื่น (ตามจริงแล้วเป็นปกติของซอฟต์แวร์)
- ด้วยความมีชื่อเสียงและคนใช้เยอะ จึงมีผู้ไม่ประสงค์ดีเยอะตามไปด้วย
- ช่องโหว่ส่วนใหญ่มาจากตัวปลั๊กอินที่ไม่มีคุณภาพหรือถูกทิ้งร้าง
- ต้องคอยดูแลด้านความปลอดภัยเอง
- ข้อดี
- Webflow: Webflow มีฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยในตัว เช่น SSL ซึ่งนับว่าดีไม่น้อย โดยจากข้อมูลที่เว็บไซต์เผยบนเว็บไซต์มีทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ความปลอดภัยด้านสารสนเทศ, มาตรการความปลอดภัยภานในบริษัท และความปลอดภัยด้านแอพพลิเคชั่น ตามไปอ่านเต็มได้ที่ลิงก์นี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจไม่เปิดเผยช่องโหว่หรือข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยที่มีอยู่เสมอไปเพื่อปกป้องชื่อเสียงหรือลดภาระในด้านงาน PR ครับ ความโปร่งใสเลยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโมเดล open-source (ซึ่งเป็นธรรมชาติของ Closed-Source Software)
- สรุป:
- เลือก WordPress ถ้าชอบความโปร่งใสและมีมาตรการพร้อม (อ่านบทความข้อปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัยเว็บไซต์ได้ที่นี่)
- เลือก Webflow ถ้าอยากจบพร้อมใช้เลย ให้ทีม Webflow ดูแลให้
ความง่ายในการใช้งานหลังบ้านของเว็บไซต์
- WordPress: WordPress มีการปรับแต่งแบบอิสระซึ่งมาพร้อมกับสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้เพิ่มหน่อยเพื่อใช้งานเบื้องต้น (Learning Curve) ในขณะที่ธีมและปลั๊กอินส่วนใหญ่ก็ทำมาให้ใช้งานง่าย ฉะนั้นหากให้ผมบอกว่า WordPress ง่านในการใช้งานไหมก็ต้องบอกว่าแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ ไม่ง่ายถ้าคุณไม่อยากเรียนรู้เลย แต่ถ้าคุณพร้อมเรียนรู้หรือมีทีมที่พร้อมเรียนการใช้งาน WordPress มีสอนวิธีการใช้งานที่ดีมากและหาได้ทั่วอินเทอร์เน็ตเลยครับ
- Webflow: ถ้าคุณอยากหลีกเลี่ยงการเขียนโค้ดไปเลย Webflow คือทางออกที่ดีครับ หน้าตาและอินเทอร์เฟซที่ใช้งานได้ง่ายทำให้ผู้เริ่มต้นเข้าถึงได้มากขึ้น แค่อย่าลืมว่าคุณจะไม่ใช่เจ้าของเว็บไซต์ของคุณแบบ 100% (เพราะขึ้นตรงกับ Ecosystem ของแพลตฟอร์ม) และบางอย่างที่คุณอยากทำอาจจะไม่มีสอนมากนอกเหนือจากของ Webflow เอง
- สรุป:
- เลือก WordPress ถ้าพร้อมเรียนรู้เพิ่มเติมหรือมีทีม
- เลือก Webflow ถ้าอยากเริ่มใช้งานให้ง่ายที่สุด
ความสามารถในการขยายตัวของเว็บไซต์บริษัท
- WordPress: ด้วยระบบ Ecosystem ของปลั๊กอินที่กว้างขวางทำให้ WordPress ได้เปรียบอย่างมากในแง่ของการขยายตัว ไม่ว่าคุณจะต้องการเปลี่ยนเว็บไซต์ของคุณให้กลายเป็นจักรวรรดิ E-commerce, เป็น Community สมัครสมาชิกได้ หรือแม้แต่โซเชียลมีเดียของคุณเอง WordPress ก็สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงของคุณได้
- Webflow: การขยายขนาดด้วย Webflow ขึ้นอยู่กับแผนที่คุณจ่าย มันเหมาะสำหรับเว็บไซต์แบบคงที่ขนาดเล็กหรือบล็อก แต่ถ้าคุณมีทราฟฟิกเยอะ มีเนื้อหาแบบไดนามิก หรือฟีเจอร์เฉพาะทางสูง คุณอาจเริ่มเจอข้อจำกัดบ้างพร้อมราคาที่แพงขึ้นซึ่งไม่สามารถเลือก Hosting อื่นได้นอกจากของ Webflow เอง
- สรุป:
- เลือก WordPress ขยายฟีเจอร์ได้ไม่จำกัด เรื่องผู้ให้บริการตามงบและการใช้งานได้
- เลือก Webflow จะมีข้อจำกัดเมื่อขยายตัวรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ปรับตามนโยบายของ Webflow (การประกาศขึ้นราคา 44% ในปี 2022)
การลงทุน / ราคาค่าทำเว็บไซต์
- WordPress: ตัวซอฟต์แวร์ WordPress เองนั้นฟรีเพราะเป็น Open Source แต่คุณจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายใน Hosting, ปลั๊กอินพรีเมี่ยมที่ต้องใช้ และค่าจ้างของการทำหน้าเว็บไซต์คุณภาพดี (หากจำเป็น) สุดท้ายคือค่าบำรุงรักษาและการดูแลในระยะยาวอาจรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยซึ่งขึ้นอยู่กับแผนงานที่เลือกใช้
- Webflow: Webflow ใช้โมเดลการกำหนดราคาแบบ Subscription โดยมีค่าธรรมเนียมรายเดือนหรือรายปีตามประเภทแผนที่คุณเลือก ซึ่งรวมถึงการโฮสต์, ความปลอดภัย และฟีเจอร์การออกแบบ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเว็บไซต์ของคุณเติบโตและต้องการแผนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจำนวนคนเข้าเว็บไซต์เกินโควต้าซึ่งในแพ็คสูงก็จะเหมาะกับลูกค้าระดับองค์กรมากกว่า แต่หากคุณเป็น SME ที่บังเอิญทำการตลาดดีจัดและคนเข้าเว็บล้นหลาม คุณอาจจะอยาก Host เองมากกว่าครับเพราะจ่ายไม่ไหว
- สรุป: ค่าใช้จ่ายอาจไม่ต่างกันมากครับในระยะแรก ส่วนในระยะยาวแล้ว WordPress มีตัวเลือกให้คุณเลือกใช้ตามงบประมาณมากกว่าการโดนล็อคในแพลตฟอร์มของ Webflow
เราเพิ่งไปเจอทวีตของ CEO บริษัทซอฟต์แวร์การชำระเงินชื่อดังเจ้าหนึ่ง กล่าวถึงการใช้งาน Webflow บนทวิตเตอร์ส่วนตัว เขากล่าวว่า ทางเว็บไซต์ของเข้าได้มีการเข้าใช้งานจากผู้ใช้จน Bandwidth เกินโควต้าของแพลนที่ใช้อยู่และได้รับอีเมลแจ้งจากที่จ่ายอยู่แล้วที่ 276$/เดือน กลายเป็น 15,000$/ปีแทนซึ่งสร้างความประหลาดใจให้เขามาก ทวิตนี้ถูกลบไปแล้วแต่ยังสามารถตามอ่าน Reply ที่เขาตอบคนอื่นได้อยู่ครับ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเคสจากหลาย ๆ เคสที่ควรนำมาพิจารณาเมื่อเลือกใช้ซอฟต์แวร์ Closed-Source ที่เราไม่ได้ควบคุมทุกอย่างได้ 100% เมื่อขยายตัวครับ
อัปเดตจากทางผู้เขียน
ความสามารถด้านการทำ SEO บนเว็บไซต์
- WordPress: ยืดหยุ่นในการทำ SEO สุด ๆ ต้องยกให้ WP เพราะมีปลั๊กอิน SEO โดยเฉพาะมากมายที่ให้คุณควบคุมได้ตั้งแต่ Meta Tag ไปจนถึงโครงสร้างเว็บไซต์ หลาย ๆ ปลั๊กอินมีคำแนะนำทีละขั้นตอน, มีการวิเคราะห์ และแม้แต่การทำงานอัตโนมัติ ทำให้ SEO เป็นเรื่องที่ผู้เริ่มต้นก็เข้าถึงได้และทำผลงานได้ดีไปอีกเมื่อรู้พื้นฐานการทำ SEO
- Webflow: Webflow มาพร้อมเครื่องมือ SEO ในตัวสำหรับจัดการองค์ประกอบพื้นฐาน เช่น Page title, meta description และ Auto XML Sitemap ซึ่งรวม ๆ แล้วก็เพียงพอสำหรับเว็บไซต์จำนวนมาก แต่ถ้าหากอยากทำ SEO สายเทคนิคหน่อยอย่างการทำ Schema Markup อาจจะต้องลงมือ Custom Code หน่อยนะครับ คงเลี่ยงการเขียนโค้ดไม่ได้
- สรุป:
- WordPress การทำ SEO สามารถปรับแต่งได้ทุกอย่างและง่ายกว่าในหลายส่วนขึ้นอยู่กับปลั๊กอินที่ติดตั้ง
- Webflow ดีกว่าทุกประการเพราะมาแบบพร้อมใช้และครบเครื่องครับ เมื่อเทียบกับ WordPress ยังไม่ติดปลั๊กอิน แต่เมื่อไหร่ที่ติดปลั๊กอิน SEO แล้ว
การจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์
- WordPress: ระบบการจัดการเนื้อหาของ WordPress มีความหลากหลายอย่างมาก รองรับเนื้อหาได้หลากหลายประเภท (Post, page และ custom post) และยังจัดระเบียบได้อย่างยืดหยุ่นด้วยหมวดหมู่และแท็ก ไม่ว่าคุณจะมีบล็อกแบบง่าย ๆ หรือเว็บไซต์ที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหา WordPress ก็รับมือได้หมด
- Webflow: Webflow ใช้แนวทางการจัดการเนื้อหาแบบมีโครงสร้างที่เรียกว่า “Collections” วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเนื้อหาตรงไปตรงมาและไม่ซับซ้อน แต่หากจะต้องจัดการเนื้อหาที่มีลำดับชั้น หรือมีหมวดหมู่ใหญ่และหมวดหมู่ย่อย ๆ ลงมา ยังทำไม่ได้ครับ
- สรุป:
- เลือก WordPress ถ้าต้องการจัดหมวดหมู่คอนเทนต์อย่างอิสระ
- เลือก Webflow ถ้าไม่ต้องการจัดหมวดหมู่ซับซ้อน
การสนับสนุนและ Community เว็บ
- WordPress: หนึ่งในข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดของการใช้ WordPress คือชุมชนที่ใหญ่โตและมีความแอคทีฟสูงมาก หากคุณมีปัญหา คุณสามารถหาคู่มือ, ฟอรั่ม/กลุ่มพูดคุย และบทเรียนออนไลน์จำนวนมหาศาลอย่างกับมหาสมุทร ต้องการความช่วยเหลือหรืออยากเชื่อมต่อกับผู้ใช้ที่มีประสบการณ์? เสิร์ชกลุ่ม Facebook ก็เจอปัญหาเดียวกันและวิธีแก้แล้ว
Community ที่เราอยากแนะนำ ได้แก่ The Admin Bar (Community WP ที่ดีที่สุดในปี 2023), Dynamic WordPress, WPDevDesign, Bricks Community และ The Inner Circle (จ่ายเงิน) - Webflow: แม้ว่าชุมชนนักพัฒนาของ Webflow จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ลักษณะ Close Source อาจทำให้การหาแก้ปัญหายากกว่าของ WordPress และในหลายครั้งต้องรอทีมงานมาแก้ไขให้ ส่วนรีวิวซัพพอร์ทของทีมงานตามไปดูได้ใน รีวิว Webflow บน Trustpilot เลยครับ อีกข้อคืออาจจะหานักพัฒนาที่ชำนาญใน Webflow ได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับ WordPress ด้วยหากต้องการเปลี่ยนเจ้าเอเจนซี่ทำเว็บหรือดูแลเว็บให้คุณ
- สรุป: ในข้อนี้ WordPress จะได้เปรียบกว่ามากด้วยธรรมชาติของซอฟต์แวร์ Open Source ครับ
การเชื่อมต่อเว็บไซต์กับซอฟต์แวร์ภายนอก
- WordPress: WordPress มอบการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นกับเครื่องมือยอดนิยมมากมาย ไม่ว่าคุณจะต้องการEmail Marketing, การผสานรวม CRM หรือเครื่องมือการวิเคราะห์ น่าจะมีปลั๊กอินหรือการเชื่อมต่อ API พร้อมใช้งานอยู่แล้วเป็นแน่แท้ เพราะ Documentation มีให้นักพัฒนาทั่วโลกเข้ามาศึกษาและเชื่อมซอฟต์แวร์ของตัวเองกับ WordPress ได้โดยง่ายครับ
- Webflow: Webflow มีตัวเลือกการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ของบุคคลที่ 3 จำกัดกว่า แม้ว่าจะมีการเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไงก็ครอบคลุมเครื่องมือทั่วไปได้เกือบครบถ้วนแล้วครับ แต่คุณอาจพบตัวเลือกน้อยกว่าสำหรับเครื่องมือเฉพาะทางหรือบริการเฉพาะกลุ่ม
- สรุป: ในข้อนี้ WordPress จะได้เปรียบกว่ามากด้วยธรรมชาติของซอฟต์แวร์ Open Source ครับ
ประสิทธิภาพและความเร็วเว็บไซต์
- WordPress: เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจาก WordPress คุณจะต้องมีความรู้และให้ความสำคัญกับผู้ให้บริการ Hosting, ประสิทธิภาพ Theme/Builder และ Plugin เป็นอย่างมาก และควรเชื่อม CDN เข้าช่วย ตัวเลือกเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อเวลาโหลดของเว็บไซต์ แม้ว่า WordPress จะมอบความยืดหยุ่น แต่ก็ต้องอาศัยความรู้ด้านการปรับให้เหมาะสมพอสมควร
- Webflow: เว็บไซต์ Webflow ออกแบบมาให้เร็วและมีประสิทธิภาพตั้งแต่แรก ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ Webflow จัดการให้ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพก็ทำให้โหลดเร็วได้
- สรุป: ความเร็วสูงสุดสามารถทำได้เหมือนกันครับหากรู้วิธีการปรับแต่ง
- ถ้าต้องการความยืดหยุ่นและตัวเลือกที่มากกว่า WordPress เป็นคำตอบที่เหมาะสมของคุณครับ
- ถ้าเน้นง่าย เลือก Webflow เร็วแบบไม่ต้องทำอะไรมากครับ ในระยะยาวค่าใช้จ่ายและตัวเลือกจะจำกัดกว่า
ข้อจำกัด/ความยาก-ง่ายในการย้ายแพลตฟอร์มเว็บไซต์
- WordPress: ทุกอย่างบนเว็บไซต์ WordPress ที่คุณพัฒนามาเป็นของคุณ (100% Data Ownership) จะย้ายไปโฮสต์ที่ไหนก็ได้, จะย้ายไปดูแลกับบริษัททำเว็บไซต์ไหนก็ได้ และจะย้ายข้อมูลไปต่อก็ทำได้เพราะพัฒนาด้วยภาษาทั่วไปอย่าง PHP และมีหลังบ้านคือ MySQL ส่วนความง่ายในการย้ายเว็บไปโฮสติ้งใหม่น่ะหรอครับ? ด้วยปลั๊กอิน Migration ดี ๆ ย้ายออกคลิกเดียว ย้ายเข้าคลิกเดียว ไปหมดทั้งเว็บ ไม่ต้องนั่งทำมือเลย!
- Webflow: ข้อจำกัดของ Close Source แบบ Webflow เลยคือ ย้ายออกเท่าที่เขาให้ย้ายได้ครับ นอกนั้นต้องทำขึ้นมาใหม่ด้วยมือของคุณเอง คุณยังพอจะ export ข้อมูลอย่าง pages/posts, collections, products และอื่น ๆ เป็นไฟล์ CSV (ซึ่งไม่รวมดีไซน์ในหน้าที่ต้องปั้นใหม่เอาเองนะครับ) ส่วนรูปภาพและมีเดียอาจจะต้องนั่งโหลดเองด้วยน้ำพักน้ำแรง
- สรุป:
- เลือก WordPress ถ้าคิดว่าในอนาคตจะมีการขยับขยายหรืออยากได้ความยืดหยุ่นในการเลือกทางเดินเองในอนาคต
- เลือก WebFlow หากมั่นใจว่าจะใช้ยาว ๆ ไม่เปลี่ยนแพลตฟอร์มหรือไม่เชื่อมต่อแพลตฟอร์มอื่น
แพลตฟอร์มไหนเหมาะกับขนาดธุรกิจของคุณ?
ธุรกิจขนาดเล็ก / งบประมาณต่ำ / ไม่มีผู้ดูแล
ถ้าคุณเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือเจ้าของที่ต้องการตัวตนออนไลน์แบบเรียบง่ายและอยากได้ประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ Webflow ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ความเรียบง่ายในการใช้งาน และการไม่ต้องดูแลรักษาเลยทำให้มันเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ธุรกิจขนาดกลาง
สำหรับธุรกิจขนาดกลาง คุณต้องชั่งน้ำหนักและสำรวจความต้องการในด้าน
- ความยืดหยุ่น
- การขยายตัวในอนาคต
- การดูแลเว็บไซต์
ถ้าคำตอบคือ ความง่ายก็เลือก Webflow แต่หากกังวลเรื่องความยืดหยุ่นและอยากมีตัวเลือกที่เหมาะกับงบประมาณในอนาคตก็จิ้ม WordPress ได้เลยไม่ผิดหวังแน่นอน
กำลังมองหาการควบคุม / ความยั่งยืน / การรับมือพร้อมสำหรับอนาคต
ถ้าธุรกิจของคุณให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของเว็บไซต์และศักยภาพในการปรับแต่งอย่างเต็มที่ WordPress เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ความยืดหยุ่นของมันทำให้มั่นใจได้ว่าเว็บไซต์ของคุณสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการขยายตัวหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจของคุณในอนาคต
องค์กรขนาดใหญ่
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความต้องการที่ซับซ้อน การพัฒนา WordPress เองสามารถทำได้อย่างสมดุลและยืดหยุ่น องค์กรอาจต้องการ Integration ที่ไม่เหมือนใคร และการสร้างเว็บไซต์ให้เข้ากับ Workflow ภายในก็จะช่วยเพิ่ม Productivity และลดต้นทุนทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมหาศาล
CMS เป็นเพียงเครื่องมือทำเว็บไซต์ที่ต้องเลือกให้เหมาะกับแบรนด์
โดยสรุปแล้วการเลือกระหว่าง WordPress และ Webflow ขึ้นอยู่กับความต้องการ, ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และขนาด/ขอบเขตของธุรกิจของคุณ จำไว้ว่าการทำเว็บไซต์ของคุณเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับความสำเร็จของธุรกิจ การลงทุนเวลาและทรัพยากรในการสร้างมันให้ดีที่สุดจะคุ้มค่าในระยะยาว
เราหวังว่าการวิเคราะห์อย่างเจาะลึกพร้อมมุมมองของเราเกี่ยวกับ WordPress vs Webflow นี้จะสามารถตอบคำถามของคุณเพื่อตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะกับแบรนด์ได้อย่างมั่นใจนะครับ ถ้ามีคำถามเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเหล่านี้ว่าจะนำมาทำเว็บไซต์บริษัทให้ตอบโจทย์ได้อย่างไร เรายินดีช่วยเหลือเพิ่มเติมครับ แค่ติดต่อหาเรามาได้เลย ขอให้สนุกกับการสร้างเว็บไซต์นะครับ!