หลายแบรนด์กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ยุคโควิดเป็นต้นมา ซึ่งมีสถิติการรีแบรนด์ที่สูงมากถึง 51% ในช่วงปี 2022 จากผลสำรวจธุรกิจในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และจากสถิติของ Bynder พบว่า การรีแบรนด์แต่ละครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 เดือน! และนักการตลาดกว่า 82% เคยผ่านการทำงานด้านการรีแบรนด์มาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย หรือขยายไลน์ธุรกิจ การ Rebranding จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
จำเห็นได้ว่าการรีแบรนด์ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวสำหรับเจ้าของแบรนด์เลย แต่การเปลี่ยนภาพลักษณ์บริษัทย่อมมาพร้อมกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือ การรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้ได้ โดยเฉพาะลูกค้าที่เคยหาเราเจอผ่าน Google ด้วยการทำ SEO จนติดอันดับ ซึ่งถ้าทำไม่ดี การรีแบรนด์อาจทำให้อันดับการค้นหาของเราหายไปเลยก็ได้!
ทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไม SEO ถึงได้รับผลกระทบจากการรีแบรนด์?
ลองนึกภาพว่าคุณมีร้านอาหารที่เปิดมา 10 ปี อยู่ ๆ วันนึงย้ายร้านไปอีกที่นึง เปลี่ยนชื่อร้านใหม่ แต่ไม่ได้บอกใคร… คุณว่าลูกค้าประจำที่เคยมาทุกอาทิตย์จะรู้ไหมว่าร้านย้ายไปไหน? ก็อาจจะรู้แค่บางส่วนค่ะ ในกรณีนี้เว็บไซต์ก็เช่นกัน! เวลาเราเปลี่ยนโดเมนใหม่ (เช่น จาก oldbrand.com เป็น newbrand.com) Google จะมองว่านี่เป็น “เว็บใหม่” ทันที ไม่ต่างจากร้านที่เพิ่งเปิด ความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมาหลายปีก็อาจหายวับไปกับตา
ถ้าไม่วางแผนให้ดี ยอดขายออนไลน์อาจหายไปถึง 70-80% เลยทีเดียว! วันนี้แคร์ดิจิตัลเลยอยากมาแนะนำขั้นตอนในการย้ายเว็บไซต์ให้คนเข้าเว็บไม่หายกัน
หากคุณยังไม่เข้าใจหลักการของ SEO เราแนะนำให้คุณลองศึกษาคร่าว ๆ เกี่ยวกับบทความการทำ SEO ของเราก่อน หรือดาวน์โหลดคู่มือการทำ SEO ของเราได้ ที่นี่
7 ขั้นตอนการรีแบรนด์โดยไม่กระทบ SEO
1. สำรองข้อมูลเว็บไซต์ให้ครบถ้วนก่อน – ขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้าม
“ไม่เป็นไรหรอก โฮสติ้งเขาก็แบ็คอัพให้อยู่แล้ว…” นี่คือประโยคอันตรายที่สุดที่เราได้ยินบ่อย ๆ
ถูกแค่ครึ่งเดียวค่ะ แต่ยังไงปลอดภัยไว้ดีกว่ามาแก้ทีหลัง เพื่อลด Downtime หรือเวลาที่เว็บไซต์ไม่สามารถออนไลน์ได้ให้น้อยลงที่สุด
สิ่งแบ็คอัพข้อมูลสำหรับเว็บไซต์
- ไฟล์เว็บไซต์ทั้งหมด
- ฐานข้อมูล MySQL
- รูปภาพและไฟล์มีเดียต่างๆ
- การตั้งค่า SEO ทั้งหมด
- ข้อมูลการวิเคราะห์จาก Google Analytics (เผื่อไว้อ้างอิง Data ในภายหลัง)
ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าได้สำรองข้อมูลครบถ้วนแล้วทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านนั่นเอง
2. วิธีสำรองข้อมูลเว็บไซต์ที่แนะนำ
- สำหรับเว็บ WordPress
- All-in-One WP Migration
- UpdraftPlus
- WPVivid
- Export ข้อมูล SEO จากปลั๊กอิน SEO ต่าง ๆ
- Export ข้อมูลจำพวก Custom Post Type หรือ ฟังค์ชั่นเฉพาะของเว็บไซต์คุณ
- สำหรับเว็บทั่วไป
- ใช้ฟังค์ชั่นสำรองข้อมูลของ Server Management Panel พวก cPanel, DirectAdmin หรือ Plesk
- หรือจะสำรองข้อมูลผ่าน sFTP ก็ได้
- สำรองข้อมูล Database เช่น เข้าไปดาวน์โหลดจาก phpMyAdmin ในกรณีที่เป็น PHP
อย่าลืมสำรองข้อมูลด้วยวิธีการที่รัดกุมด้วยนะคะ อย่างที่แคร์ดิจิตัลเราก็ใช้วิธีการสำรองแบบ 3-2-1 Method เป็นอย่างน้อย
3. สร้าง Staging ก่อนอัพโหลดเว็บไซต์จริง
เวลาที่มืออาชีพย้ายเว็บไซต์ สิ่งที่ต้องทำเลยคือ การทดลองอัพโหลดหรือย้ายในเว็บไซต์จำลองก่อน หรือเรียกว่า Staging Site
จริง ๆ มันก็เหมือนเว็บไซต์จริงทุกอย่างค่ะ แค่เรายังไม่ได้อัพโหลดขึ้นมาในโดเมนจริงที่ลูกค้าเข้ามาดูได้ ฉะนั้น เราจึงทดสอบได้เต็มที่ เว็บพังขึ้นมาลูกค้าก็ยังไม่เห็นนั่นเอง
เหตุผลอะไรที่ต้องทำแบบนี้? ขอยกตัวอย่าง ถ้าคุณมีเว็บขายของออนไลน์ แล้วถ้ายอดขาย 1 แสนบาทต่อวัน การที่เว็บไซต์ล่มไป 2 ชั่วโมงอาจเสียรายรับเฉลี่ยที่ประมาณ 10,000 บาทเลยทีเดียว (ไม่นับว่าเป็นช่วงพีคนะคะ)
วิธีการสร้าง Staging Site ไม่ยาก
- สร้าง Subdomain สำหรับทดสอบ (เช่น yourdomain.com)
- ติดตั้งสำเนาของเว็บไซต์จริง
- ทดสอบการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่นี่ก่อน
แล้วทำการทดสอบเว็บไซต์บน Staging Site ตามรายการนี้
- การทำงานของธีมใหม่
- ปลั๊กอินทั้งหมด
- ฟอร์มติดต่อ
- ระบบชำระเงิน
- การแสดงผลบนมือถือ
- ความเร็วเว็บไซต์
4. วางแผน URL Structure ใหม่อย่างเป็นระบบ
การวางแผน URL ใหม่ก็เหมือนการวาดแผนที่บ้านใหม่ค่ะ ต้องรู้ว่าห้องไหนอยู่ตรงไหน ทางเข้าออกอยู่ที่ใด เวลาใครมาอ่านผังบ้านของคุณก็เข้าใจง่าย โดยเฉพาะ Google
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบนี้ค่ะ คลินิกเสริมความงาม thai-super-beauty(.com) จะรีแบรนด์เป็นคลินิก thaiproud(.com) แต่มีบทความในเว็บมากกว่า 1,200 บทความ วิธีที่ต้องทำคือ
- จัดทำ URL Mapping อย่างละเอียด
- เดิม: thai-super-beauty(.com)/reviews/product-a → ใหม่: thai-proud(.com)/beauty-reviews/product-aเดิม: thai-super-beauty(.com)/how-to → ใหม่: thai-proud(.com)/beauty-tipsเดิม: thai-super-beauty(.com)/about → ใหม่: thai-proud(.com)/our-story
- แบ่งประเภท URL ตามความสำคัญ และจัดระเบียบโครงสร้างใหม่
- หน้าหลักที่ต้องคงอยู่ 100%
- หน้าที่มีคนเข้าชมสูง
- หน้าที่มี Backlinks เยอะ
- หน้าที่อาจยุบรวมกัน
- หน้าที่จะยกเลิก
ขั้นตอนนี้ ใช้ Excel หรือ Google Sheets ทำตารางเปรียบเทียบ แล้วแชร์กับทีมงานทุกคนจะทำให้การทำงานง่ายขึ้นค่ะ
5. จัดการ Internal Links อย่างมืออาชีพ
Internal Links คือเส้นเลือดของเว็บไซต์ค่ะ ถ้าเลือดไม่ไหลเวียน (ลิงก์เสีย) เว็บก็จะไม่โต การที่มีการส่งต่อลิ้งก์ภายในจากหน้าที่มีคนเข้าชมสูงไปหน้าต่าง ๆ ก็จะทำให้สุขภาพเว็บไซต์แข็งแรงและอันดับ SEO สูงขึ้นด้วยค่ะ วิธีจัดการ Internal Links ที่มีประสิทธิภาพได้แก่
- ใช้เครื่องมือสแกนลิงก์ก่อนเลยอันดับแรก
- Screaming Frog เป็นเครื่องมือแบบออฟไลน์ที่นิยมใช้กันมาก เหมาะสำหรับเว็บขนาดเล็ก-กลาง ส่วนเว็บไซต์ใหญ่ก็สแกนได้ค่ะ แต่คอมกับอินเทอร์เน็ตต้องแรงหน่อย
- Sitebulb เป็นเครื่องมือบน Cloud ที่นิยมมากในต่างประเทศ
- Ahrefs Site Audit (มีค่าใช้จ่าย แต่ละเอียดมาก)
- นำลิงก์ที่ได้มาจัดลำดับความสำคัญ (ลิงก์ในเมนูหลัก, ลิงก์ในส่วน Footer, ลิงก์ในบทความยอดนิยม หรือลิงก์ในบทความทั่วไป)
- จัดการแก้ไขลิงก์ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามจุดประสงค์
- ใช้ Search & Replace เพื่อแทนที่ลิงก์เดิมด้วยลิงก์ใหม่ (ใช้โปรแกรมฐานข้อมูลทำได้ หรือแม้แต่ Excel ก็มีฟังค์ชั่นนี้)
- ใช้ปลั๊กอิน Better Search Replace สำหรับ WordPress
- แก้ด้วยน้ำมือของคุณเองสำหรับลิงก์สำคัญ ช้าแต่ชัวร์ (ไม่แนะนำให้ทำทั้งเว็บ เพราะจะใช้เวลานานมาก)
6. ติดตามผลอย่างใกล้ชิด
หลังจาก Launch แล้ว 30 วันแรกสำคัญมาก! ต้องติดตามตัวชี้วัดต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยดูไล่ตามนี้
Traffic (Google Analytics)
- จำนวนผู้เข้าชมรายวัน
- Bounce Rate
- เวลาที่ใช้บนเว็บไซต์
การจัดอันดับ SEO (Search Console)
- อันดับการค้นหาคำสำคัญ
- จำนวนหน้าที่ถูก Index
- CTR จากผลการค้นหา
ปัญหาทางเทคนิค
- หน้า 404 (หรือ Error code 4xx และ 5xx ต่าง ๆ)
- Redirect Loops
- Server Response Time
- Mobile Experience
- Google Lighthouse performance
การทำ A/B Testing
- ทดสอบ Meta Title ใหม่
- ทดสอบ Description ใหม่
- เปรียบเทียบ Conversion Rate
7. จัดการ Backlinks อย่างชาญฉลาด
Backlinks คือการที่เว็บอื่นลิงก์กลับมายังเว็บเรา เปรียบเหมือนผลโหวตว่าเว็บไซต์เราคือเว็บที่ได้ Popular Vote จากทุกคนค่ะ Google ก็จะมองว่าเว็บเรานี่มันฮ็อตมาก ๆ น่าเอาขึ้นอันดับสูง ๆ นั่นเอง (แต่ Backlink เป็นเพียงแค่หนึ่งปัจจัยในการแสดงผลนะ โฟกัสด้านอื่นด้วย) ถ้าเปลี่ยนโดเมนแล้วไม่จัดการดี ๆ ก็เหมือนขอสละมง(กุฎ) ไม่รับตำแหน่งนั่นเอง
วิธีจัดการ Backlinks ที่ดีคือ อย่างแรกคุณต้องรวบรวมข้อมูล Backlinks ของเว็บปัจจุบันด้วยเครื่องมือต่าง ๆ อย่าง Google Search Console, Ahrefs หรือ Majestic และนำมาประเมินว่ามีหน้าไหนถูกลิงก์กลับมาบ้าง เช่นหน้าที่มี Domain Authority สูง, หน้าที่คนเข้าเยอะ หรือ ลิงก์มาจากเว็บที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเรา (เป็นลิงก์ที่ดี)
ROI ของการรีแบรนด์: คุ้มค่าหรือไม่ ในแง่ของการทำ SEO
ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายแบรนด์ทยอยปรับโฉมตัวเองกันอย่างต่อเนื่อง บางรายลงทุนหลักแสน บางรายทุ่มหลักล้าน แต่คำถามที่เราได้ยินบ่อยที่สุดคือ “คุ้มไหม?”
หนึ่งในสิ่งที่จะตอบได้ดีที่สุดคือเรื่องของ Brand Equity ในฐานะเจ้าของแบรนด์ คุณให้ความสำคัญกับแบรนด์มากแค่ไหน คุณค่าของแบรนด์คุณหลังจากรีแบรนด์เป็นอย่างไร ตรงกับทิศทางที่รองรับอนาคตหรือไม่ และการเปลี่ยนแบรนด์เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีและทันสมัยขึ้นจะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของคุณจริงไหม
ถ้าการรีแบรนด์ทำให้ภาพลักษณ์ดูทันสมัยขึ้น คนสนใจเว็บไซต์มากขึ้น เท่ากับว่าการค้นหาหรือการเสิร์ชบน Google ก็มากขึ้นด้วย ซึ่งหากคุณวางแผนการตลาดมาอย่างดี และทำคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับทิศทางของบริษัทหลังจากการรีแบรนด์ ย่อมทำให้คุณมีคอนเทนต์รองรับความต้องการของลูกค้านั่นเอง
หากคำตอบคือ “คุ้มค่า” ค่อยเริ่มมาวางแผนการย้ายจากชื่อเดิมมาชื่อใหม่ ซึ่งการตลาดที่กระทบอันดับต้น ๆ คือ SEO เพราะต้องทำการรื้อโครงสร้างและปรับปรุงตามแบรนด์ที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ว่าจะมีแผนดีแค่ไหน Traffic ยังไงก็จะตกลงไปช่วงแรก ๆ แน่นอน แต่ไม่ต้องกังวลมากนะคะ เพราะความเสี่ยงจะถูกจำกัดให้อยู่แค่เล็กน้อยทำให้การรีแบรนด์ของคุณคุ้มค่าอย่างแน่นอน
สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ การรีแบรนด์ไม่ใช่แค่เรื่องของการเปลี่ยนโลโก้หรือเว็บไซต์ แต่เป็นโอกาสในการยกระดับธุรกิจ เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ แน่นอนว่ามันมีความเสี่ยง แต่ถ้าวางแผนดี ผลลัพธ์ที่ได้อาจคุ้มค่ากว่าที่คิด
การวางแผนและการทำงานเป็นทีม นำไปสู่การทำ SEO หลังรีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ
การ Rebranding เป็นโอกาสดีในการปรับปรุงภาพลักษณ์ธุรกิจ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อรักษา SEO ที่สร้างมา จากประสบการณ์ของเรา จากที่ได้เขียนไปในบทความนี้ เราสามารถสรุปได้ว่าการรีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จต้องมีขั้นตอนต่อไปนี้
- การวางแผนที่ดี
- ทีมงานที่พร้อม
- การสื่อสารที่ชัดเจน
- การติดตามผลอย่างใกล้ชิด
ลองดูเคสกรณีศึกษาเรื่องการรีแบรนด์และผลกระทบต่อการทำ SEO ของ Guild ที่เราได้เขียนก่อนหน้านี้ดูค่ะ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ของคุณอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ ถ้าคุณกำลังวางแผนรีแบรนด์ อย่าลืมว่าไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว! การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยประหยัดเวลาและลดความเสี่ยงได้มาก แวะมาคุยกันได้เลยนะคะ!