วันนี้เรามาดูกรณีศึกษาเรื่องการละเลยความปลอดภัยที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเรามาหมาด ๆ กันครับ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่พวกเราแคร์ดิจิตัลได้เจอตลอดหลายปีที่ผ่านมาเมื่อพูดคุยกับระดับผู้บริหารของแต่ละบริษัทคือ หลายคนไม่สนเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ครับ เราก็โทษเจ้าของไม่ได้นั่นแหละ เพราะงานบริษัทที่รัดตัวมันทำให้ใครจะมีเวลามาโฟกัสเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือ ถ้าคุณมีพนักงานแผนก IT อยู่แล้ว คุณก็ควรมีมาตรการความปลอดภัยหรือให้แผนก IT จัดการครับ โดยส่วนใหญ่กลับไม่ได้สนใจอะไรแบบนี้เลยน่ะสิ
วันนี้เราเจอข่าวจาก Channel News Asia เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง สิงคโปร์ ที่บริษัทหนึ่งโดนพนักงานที่โดนไล่ออกไปแล้วแฮคเข้าให้ ความโกรธเปลี่ยนเป็นความเสียหายแก่บริษัทกว่า 27 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นป้องกันได้ไม่ยากเลย ควรอ่านครับโดยเฉพาะใครที่ชอบให้ Account หลักของบริษัทแก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นอีเมล, บัญชีโซเชียล, บัญชียิงโฆษณา เป็นต้น คุณจะไม่อยากทำแบบนั้นอีกเลย
เรื่องราวก่อนเกิดเหตุการณ์เจาะระบบบริษัท
คันดูลา นาการาจู วัย 39 ปี เป็นพนักงานของ NCS (National Computer Systems) บริษัทไอทีชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ เขาทำงานในทีม QA (Quality Assurance) ของบริษัท ซึ่งมีหน้าที่จัดการระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการทดสอบซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ก่อนปล่อยให้ลูกค้าและผู้ใช้ได้ใช้งานกัน
เมื่อเดือนตุลาคม 2022 สัญญาของนาการาจูถูกยกเลิกเนื่องจากผลงานที่ไม่ดีนัก แม้ว่าเขาจะออกจากออฟฟิศไปแล้ว แต่วันสุดท้ายของการจ้างงานอย่างเป็นทางการของเขานั่นคือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 นาการาจูรู้สึก “สับสนและไม่พอใจ” ที่ถูกไล่ออกเนื่องจากเขารู้สึกว่าได้ทำผลงานได้ดีและ “มีส่วนร่วมอย่างดี” กับ NCS ในระหว่างการจ้างงาน
หลังออกจาก NCS เขาไม่มีงานใหม่ในสิงคโปร์และได้กลับไปอินเดีย บ้านเกิดของเขา แต่ระหว่างนั้นนาการาจูก็ค้นพบสิ่งหนึ่ง…ข้อมูลล็อกอินในฐานะผู้ดูแลระบบของเขายังใช้งานได้อยู่!
เกิดอะไรขึ้นกับเหตุการณ์แฮคระบบดิจิตอลของบริษัท?
ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2023 เมื่อนาการาจูพบว่าบัญชีผู้ระดับแอดมินในบริษัท (Account Credential) ของเขายังคงใช้งานได้และทำให้เขาสามารถเข้าถึงระบบของ NCS จากระยะไกล (Remote Access) เขาจึงวางแผนแก้แค้นอดีตนายจ้างของเขา เขาเสิร์ชหา “server delete scripts” บน Google และใช้บัญชีที่ยังเข้าได้อยู่นี้เพื่อทดสอบ Script เหล่านั้นบนเซิร์ฟเวอร์ของ NCS
ไม่มีใครในทีมเก่าของเขารู้เรื่องนี้เลย ทำให้เขาสามารถเข้าถึงระบบได้กว่า 13 ครั้งเฉพาะในเดือนมีนาคม 2023 เท่านั้น ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ปรับแต่งและซ่อนสคริปต์การลบไว้อย่างแนบเนียน และในที่สุด ในวันที่ 18 และ 19 มีนาคม เขาก็เปิดใช้งานสคริปต์ ซึ่งเริ่มลบเซิร์ฟเวอร์ทีละลูกเพื่อลดความผิดสังเกต รวมแล้วถูกลบไปทั้งหมด 180 เซิร์ฟเวอร์ใน 2 วันเท่านั้น!
แล้วทำไมเขาถึงยังเข้าระบบของบริษัทได้ในเมื่อโดนไล่ออกไปแล้ว
เป็นเรื่องแปลกที่อดีตพนักงานยังสามารถเข้าถึงระบบได้หลังจากที่เขาถูกไล่ออก NCS อธิบายในแถลงการณ์ต่อ CNA ว่า “เนื่องจากความผิดพลาดของแผนก HR ในการบริหารทำให้การเข้าสู่ระบบด้วยบัญชีของเขาทำได้ เพราะ NCS ยังไม่ได้ลบบัญชีของเขาออกจากบริษัท”
นี่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดร้ายแรงในการจัดการสุขอนามัยการใช้งานระบบดิจิตอลหรือ Digital Hygiene ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับความมั่นคงทางไซเบอร์ในทุกแบรนด์และทุกองค์กรครับ
การละเลยความปลอดภัยในการใช้งานระบบดิจิตอล = ตัวทำลายบริษัทชั้นดี
ในกรณีนี้ NCS ควรจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ทันทีที่ยกเลิกสัญญากับพนักงาน สิทธิ์การเข้าถึงทั้งหมดจะต้องถูกยกเลิกอย่างทันท่วงที อย่างน้อยที่สุดคือ การรีเซ็ตรหัสผ่านเพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าถึงระบบได้ แต่นี่กลับไม่เกิดขึ้น และกลายเป็นโอกาสให้อดีตพนักงานย้อนกลับมาทำลายระบบทั้งหมด เรามาทำความรู้จักกับการจัดการความปลอดภัยด้านระบบดิจิตอล หรือ Security Hygiene กันเบื้องต้นก่อนดีกว่าครับ
สุขอนามัยความปลอดภัยดิจิตอลคืออะไร?
สุขอนามัยความปลอดภัยการใช้งานดิจิทัล (Digital Security Hygiene) คือแนวทางพึงปฏิบัติด้านความปลอดภัยเวลาใช้งานเทคโนโลยีทุกประเภท ซึ่งบริษัททุกระดับควรทำอย่างสม่ำเสมอและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก องค์ประกอบหลักประกอบด้วย:
- การบริหารจัดการสิทธิ์ผู้ใช้งาน (User Access Management) คุณไม่จำเป็นต้องโยนทั้ง Account ให้พนักงานนะครับ เพราะหลายซอฟต์แวร์มีระบบจัดการ User ที่คุณสร้างใหม่และกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงได้ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะพนักงาน ควรมีการอัพเดทสิทธิ์การเข้าถึงด้วย
- การกำหนดนโยบายรหัสผ่านที่ปลอดภัย (Secure Password Policy) ควรกำหนดความยาวรหัสขั้นต่ำ การใช้ตัวอักษรที่หลากหลาย และกำหนรอบในการรีเซ็ทรหัสอยู่เสมอ
- การฝึกอบรมพนักงานในการตระหนักรู้ด้าน Cybersecurity (Employee Cybersecurity Awareness Training) แม้ว่าหลายองค์กรมักจะมองข้ามไป แต่พนักงานที่ไม่ระวังและไม่รู้เท่าทันนั้นเป็นความเสี่ยงสูงต่อบริษัทเลยทีเดียว และนี่ก็เป็นหนึ่งในเรื่อง Governance ที่ดีอีกต่างหาก
- การใช้หลักการ “ให้สิทธิ์ต่ำสุดเท่าที่ทำได้” (Principle of Least Privilege Access) คือการให้พนักงานเข้าถึงระบบได้แค่ส่วนทีจำเป็นต่อการทำงานเท่านั้น ไม่ควรให้สิทธิ์การเข้าถึงมากเกินจำเป็น ซึ่งเรื่องง่าย ๆ นี้จะเซฟความเสียหายบริษัท NCS ไปได้ถึง 27 ล้านบาทเลยนะครับ
ทำไมเจ้าของธุรกิจอย่างคุณถึงควรสนใจ Security Hygiene?
ในยุคที่ธุรกิจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น การขาดความใส่ใจในการจัดการสุขอนามัยดิจิทัลก็เท่ากับการเปิดประตูต้อนรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ตลอดเวลา เรื่องราวนี้เป็นกรณีตัวอย่างของความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรได้หากไม่ใส่ใจ ถึงแม้ NCS จะอ้างว่าไม่มีข้อมูลที่ละเอียดอ่อนถูกเก็บอยู่ใน Server ที่ถูกลบ แต่อย่างน้อยก็ทำให้บริษัทต้องเสียเงินไปกว่า 27 ล้านบาทเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในครั้งนี้ จินตนาการถึงผลลัพธ์ที่อาจเลวร้ายกว่านี้ หากเป็นข้อมูลลูกค้าหรือข้อมูลทางการเงินที่สูญหาย นอกจากความสูญเสียทางการเงินแล้ว ความน่าเชื่อถือขององค์กรก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วย (ซึ่ง NCS คงเสียหายแบบประเมินค่าไม่ได้เลยในจุดนี้ครับ)
สิ่งที่ธุรกิจของคุณสามารถทำได้เลยวันนี้
การพัฒนากระบวนการความมั่นคงปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำธุรกิจยุคดิจิทัล เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารควรเริ่มต้นที่จะ:
• ทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับการจัดการสุขอนามัยดิจิทัลพื้นฐานในองค์กร
• จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงทางไซเบอร์เป็นระยะ เพื่อระบุจุดอ่อนในองค์กร
• ตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ทันสมัย
• ลงทุนในการฝึกอบรมพนักงาน ให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และสิ่งที่ไม่ควรทำ
• ตั้งเป้าหมายในการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการรักษาความปลอดภัย” มากกว่าแค่กระบวนการ
เหตุผลที่เอเจนซี่ออกแบบเว็บไซต์ของเราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในโลกออนไลน์
คุณจินตนาการไม่ออกแน่นอนครับว่าเราเจอลูกค้าใหม่เอาเว็บไซต์บริษัทมาให้เราดูเรื่องเว็บไซต์โดน Malware บ่อยแค่ไหน หนึ่งในลูกค้าของเราได้ทำเว็บไซต์กับฟรีแลนซ์ที่ทำเสร็จแล้วหนีหาย ปล่อยเว็บร้างไม่อัปเดตจนโดนแฮ็ค เพียงเพราะต้องการเว็บราคาถูก นี่จึงเป็นเหตุผลที่เอเจนซี่ของเรายอมไม่ได้ถ้าเป็นเรื่องความปลอดภัยครับ เว็บไม่สวยไม่เท่าไหร่ แต่การส่งเว็บที่มันไม่ปลอดภัยให้ลูกค้า เหมือนคุณไปซื้อรถแล้วเขาให้รถที่เครื่องยนต์พร้อมจะไหม้ได้ตลอดเวลา ใครมันจะไปรู้สึกดีจริงไหมครับ
สิ่งที่เอเจนซี่ออกแบบเว็บไซต์ของเราทำเพื่อให้เว็บไซต์ของคุณปลอดภัย
อย่างในเคสนี้ เรามีการใช้หลักการ “ให้สิทธิ์ต่ำสุดเท่าที่ทำได้” (Principle of Least Privilege) มาโดยตลอดกับทีมของเราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์และข้อมูลละเอียดอ่อนของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เมื่อคุณเชื่อมั่นใจแคร์ดิจิตัลแล้ว คุณต้องได้รับความปลอดภัยเช่นกัน ซึ่งหลักการนี้สามารถป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในบทความนี้ของ NCS ได้แบบ 100% ครับ ยังไม่รวมถึงมาตรการอื่น ๆ อย่าง
- การตั้งพาสเวิร์ดในระดับเกิน 120 ตัวอักษรแบบผสม
- การใช้ 2 Factor Authentication ในการเพิ่มความปลอดภัยของ Account
- การจัดเก็บพาสเวิร์ดแบบเข้ารหัส End to End Encryption ที่ถือว่าเป็นมาตรารปลอดภัยที่สุด
- การเสริมความปลอดภัยในระดับ Server (Server Hardening)
- การเสริมความปลอดภัยในระดับเว็บไซต์ เช่น 0-Day Virtual Patching และ Regular Maintenance เป็นต้น
- และอื่น ๆ
ซึ่งเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณก็ควรทำกับทุกอย่างของบริษัทที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตครับ หากมีสิ่งใดที่เราสามารถช่วยเหลือได้ ติดต่อมาหาแคร์ดิจิตัลได้นะครับ เรายินดีช่วยเหลือธุรกิจของไทยให้เติบโตไปพร้อมความปลอดภัยซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ละเลยไม่ได้
ขอบคุณที่มาของข่าว: https://www.channelnewsasia.com/singapore/former-employee-hack-ncs-delete-virtual-servers-quality-testing-4402141