เคยทำงานกับคนที่เหมือนคุยกันคนละภาษาไหม? บอกเท่าไหร่ก็ทำไม่ตรงใจ สุดท้ายทั้งเหนื่อย ทั้งเซ็ง จากที่ควรคุยกันทีเดียวจบกลายเป็นเสียเวลาไปเป็นวัน ๆ
บางทีมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องภาษาหรอกครับ ถึงคุยภาษาเดียวกัน แต่เป้าหมายไม่ตรงกัน สื่อสารไม่ชัดตั้งแต่ต้น ก็มีสิทธิ์ล่มไม่เป็นท่าได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ทุกอย่างล้วนเกี่ยวโยงกับการสื่อสาร ไม่เว้นแม้แต่การสื่อสารในงานออกแบบเว็บไซต์ที่สำคัญอย่างมาก! ปัญหาหลายอย่างเกิดจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน (อาจไม่ได้ผิดพลาด แต่เข้าใจไม่ตรงกัน) บางครั้งคุยกันชัดเจนขนาดไหน บางทีมันก็ยังคลาดเคลื่อนได้
ปัญหาใหญ่เท่าช้างของการสื่อสาร
ลองนึกภาพว่า คุณกำลังอธิบายสิ่งที่ซับซ้อน ยากจะเข้าใจ ให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แน่นอนว่าต้องอธิบายอย่างละเอียด แต่..
- คุณจะอธิบายอย่างไรให้เขาเข้าใจตรงกับสิ่งที่คุณคิด
- คุณจะพูดอย่างไรให้เขารู้สึกอยากช่วยเหลือ
- คุณจะทำอย่างไรให้เขาอยากทำตามให้คุณออกมาดีที่สุด
พอผมถามคำถามไปแบบนี้แล้ว เชื่อว่าทุกคนคงกำลังครุ่นคิดว่า “ฉัน” จะตอบคำถามเหล่านี้ยังไงดีนะ? ซึ่งมันมีสิ่งที่ผิดมหันต์อยู่หนึ่งสิ่งในความคิดนี้ครับ นั่นก็คือเรากำลังคิดถึงแต่ตัวเอง!
หลายครั้ง เราโฟกัสที่เป้าหมายจนลืมรับฟังระหว่างทาง ลืมฟังมุมมองคนอื่น จนผลลัพธ์ออกมาไม่ตรงใจ ดังคำกล่าวของคุณ Christopher Morley ที่ว่า “There is only one rule for being a good talker – learn to listen.”
การสื่อสารในการทำเว็บไซต์: กฎข้อเดียวของการเป็นผู้พูดที่ดีคือ เรียนรู้ที่จะฟัง
หัวใจสำคัญในการสื่อสารและวางแผนเว็บไซต์ที่ออกมาประสบความสำเร็จจากประสบการณ์ของเราเลยคือ การเป็นผู้ฟังที่ดีทั้งสองฝ่ายและร่วมมือวางแผนสิ่งที่ต้องทำต่อไปครับ ซึ่งคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมนี้จะส่งต่อไปยัง ‘Messaging’ บนเว็บไซต์ว่าเราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่คุณต้องการไปยังลูกค้าของคุณและทำให้เขาซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้ไหมอีกด้วย นอกจากการที่ต่างฝ่ายต่างรับฟังเวลาวางแผนและฟีดแบ็คแล้ว ทริคที่เราอยากแนะนำซึ่งช่วยให้โครงการการทำเว็บไซต์ยอดเยี่ยมขึ้น มีดังนี้
- ก่อนคุย ปูพื้นก่อน: เราขอบอกด้วยความสัตย์จริงเลยครับว่า ถ้าทำตามข้อนี้ได้คือสุดยอดมาก ๆ นั่นคือการเตรียมข้อมูลเป้าหมายในแต่ละการประชุม, สิ่งที่อยากแก้ไข, Reference ต่าง ๆ ของจุดที่จะวางแผน/แก้ไขจากเว็บไซต์ที่ชอบ และมีวาระการประชุมชัดเจน จะให้ผลลัพธ์เว็บไซต์ของคุณออกมาตรงใจ ประหยัดเวลาการพูดคุย และเปลี่ยนเป็นยอดขายได้อย่างมหาศาล (บ่อยครั้งที่เราเจอ Stakeholder ต้องการปรับแก้ไขงาน แต่ตอนเข้ามาประชุมยังไม่เคยดูด้วยซ้ำว่าเว็บไซต์ต้องการแก้ตรงไหนและเพราะอะไร ค่อยเข้ามานั่งดูตอนประชุม และทุกคนต้องนั่งรอคำตอบจนได้ยินเสียงจักจั่นเลยทีเดียว… จริง ๆ นะครับ)
- ถามเยอะๆ ไม่เสียหาย: สงสัยตรงไหน ถามได้เลยครับ หรือจดโน้ทไว้ถามตอนท้ายของการประชุม ยิ่งเป็นบริการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ทุกเอเจนซี่ย่อมเจอคนที่ไม่ชำนาญด้านเทคโนโลยีมาเยอะ เป็นเรื่องปกติที่จะไม่เข้าใจและเป็นเรื่องปกติที่จะถามครับ ฉะนั้น ไม่ต้องรอ ยกมือได้เลย!
- Feedback อย่างจริงใจ: การทำเว็บไซต์ปรับแก้ไขได้ครับ เมื่อมีจุดที่ไม่ชอบ สามารถรีวิวได้เลยตามตรงเพื่อไปปรับแก้ไขได้อย่างตรงจุด (ถ้ามีแบบอ้างอิงมาด้วยจะดีมาก เพราะจะทำให้ดีไซน์เนอร์ปรับแก้ได้ถูกใจขึ้นอีกแบบ 10 เท่าครับ)
- สื่อสารต่อเนื่อง: เอเจนซี่ที่ดีจะมีการสื่อสารกับคุณอย่างต่อเนื่องเพื่อรายงานผลว่าดำเนินการถึงไหนแล้ว อย่าหงุดหงิดไปถ้าเขาส่งข้อความรายงานผลมาเยอะครับ นั่นคือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคุณมาก ๆ ในทางกลับกัน คุณก็สามารถสื่อสารกับเอเจนซี่ได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้เว็บไซต์ที่ต้องการ
นำไปปฏิบัติเพื่อการสื่อสารที่แข็งแรงและเว็บไซต์ที่โดดเด่น
การพัฒนาเว็บไซต์ทุกเว็บถือเป็นโครงการที่ใหญ่ เป็นอสังหาริมทรัพย์ดิจิตอลของบริษัทคุณครับ ฉะนั้นจงคาดหวังไว้ได้เลยว่า กระบวนการการทำเว็บไซต์ที่ดีมีขั้นตอนหลายอย่างและซับซ้อนไม่ต่างจากการสร้างตึกบริษัทที่ทันสมัยสักที่หนึ่งเลย มีมากกว่าร้อยแปดพันเก้าอย่างที่จะทำให้โปรเจกต์ออกมาไม่เป็นแบบฝัน ช่วยกันรับฟังและสื่อสารให้ดีครับ การสื่อสารที่ดีเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณได้เว็บไซต์สวย ๆ ในฝัน
ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้รับรองว่าคุณจะได้เว็บไซต์ที่ตรงใจและสร้างรายรับมหาศาล (ลองดูตัวเลขคนเสิร์ชหาสิ่งที่เกี่ยวกับสินค้า/บริการของคุณต่อเดือนดูสิ!) ดีต่อใจทั้งคุณ ดีต่อใจทั้งต่อบริษัทของคุณเองครับ
ปล. บทความนี้เหมาะสำหรับทั้งคนที่กำลังจะจ้างคนออกแบบเว็บไซต์ และคนที่กำลังเป็นเว็บดีไซน์เนอร์เองด้วยนะครับ ฟังให้รู้เรื่องและพูดให้เข้าใจ รับรองงานราบรื่นและประสบความสำเร็จแน่นอนครับ!