การสร้างภาพด้วย AI: ข้อดี-ข้อเสีย และแนวทางการใช้ในแบรนด์

Marketing
กุมภาพันธ์ 16, 2024
Written for you by
S. Wirat, Managing Director

สารบัญ

ใคร ๆ ก็พูดถึง AI แต่เราควรใช้มันในการตลาดหรือเปล่า?

เดี๋ยวนี้ ใคร ๆ ก็รู้ว่าแบรนด์ชอบสร้างภาพ ไม่ใช่ครับ ผมไม่ได้หมายถึงการสร้างภาพในทางไม่ดี แต่หมายถึงการสร้างภาพด้วย AI ต่างหาก ซึ่งเจ้าปัญญาประดิษฐ์  หรือ AI สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในหลายอุตสาหกรรม และการสร้างภาพเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นครับ โมเดลหรือโปรแกรมสร้างภาพด้วย AI อย่าง DALL-E และ Midjourney ปฏิวัติวงการการตลาดในการสร้างคอนเทนต์ เพราะพวกมันช่วยสร้างภาพสวยสมใจภายในไม่กี่วินาที ซึ่งถ้าให้ดีไซเนอร์ที่เป็นคนจริง ๆ ทำคงกินเวลาหลายชั่วโมงเลยล่ะครับ

แต่ถึงแม้จะดึงดูดใจตอนแรก การพึ่งพาแค่ภาพที่ AI สร้างให้เว็บไซต์หรือสื่อการตลาดของคุณอาจทำให้แบรนด์ของคุณดูน่าตะขิดตะขวงใจและทำให้การ Connect หรือการสื่อถึงใจลูกค้าค่อย ๆ เลือนหายไปโดยไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ มีหลายประเด็นที่เราอยากพูดคุยในวันนี้เลยครับ

ปัญหาเรื่องใจความสำคัญที่คุณอยากสื่อสารกับการใช้งานรูปภาพจาก AI

โดยภาพรวมตอนนี้ ยอมรับกันตรง ๆ นะครับว่าเราทุกคนเจอโพสต์บล็อกหรือเว็บไซต์ที่มีภาพไม่เข้ากับเนื้อหาสักเยอะขึ้นมาก เหตุผลเป็นเพราะว่าคนพึ่งพา AI จนไม่ได้ตรวจสอบด้วยตาตัวเอง เน้นความเร็วเป็นหลัก ซึ่งถึง AI จะมีความสามารถเก่งขึ้นและทำตามคำสั่งที่ป้อนไว้ได้ตรงขึ้น แต่ผลงานสุดท้ายทีออกมายังต้องให้คนเราปรับแต่งเยอะอยู่พอตัว และถึงกระนั้น หลาย ๆ รูปมันก็มักจะมีอะไรบางอย่างที่แปลกจากรูปถ่ายจริง ๆ ทำให้รู้สึกว่าน่าเชื่อถือน้อยลงทั้งแบบไม่รู้ตัว

การสื่อสารผ่านภาพนั้นต้องการความเป็นมนุษย์สูง

การใช้แค่ภาพทั่วไปหรือแม้แต่ภาพสวยเลิศแต่ไม่เข้ากับเนื้อหาเนี่ยสามารถส่งผลเสียต่อแบรนด์ได้เลยนะครับ โดยเฉพาะถ้าเลือกใช้แค่ผลงานที่ผ่าน AI โดยไม่ตรวจสอบให้ดี

พูดกันตรง ๆ คุณเองก็แยกภาพแบบนี้ออกไม่ใช่เหรอครับ? ถึงการเขียนคำสั่งจะซับซ้อนและดีล้ำแค่ไหนและภาพ AI ก็ดูสมจริงขึ้นมากแล้วก็จริง มันก็ยังมีองค์ประกอบเช่น สรีระร่างกาย, สไตล์ หรือลายเส้นที่ทำให้คุณเอะใจว่าเป็น AI อยู่ แต่ก็มักจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่ดูขัดๆ รู้สึก “ไม่ใช่” อยู่ดี นอกจากนี้ ศิลปินและคนที่ทำงานศิลปะจะแยกภาพพวกนี้ออกอย่างรวดเร็ว และบางครั้งจะเห็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานต้นฉบับด้วย

เพื่อทำให้ภาพติดตาและติดใจผู้ชมจำเป็นต้องมีส่วนของฝีมือมนุษย์ด้วยครับ เพราะจริง ๆ ภาพมีบทบาทหลักสำคัญในการสร้างประสบการณ์แก่ผู้ใช้งานและสร้างความเข้าใจต่อเนื้อหาเลยทีเดียว จากงานวิจัยพบว่า สมองประมวลผลภาพได้เร็วกว่าตัวอักษรเยอะมาก เพราะฉะนั้นความประทับใจแรกจะส่งผลให้ผู้อ่านเข้าใจและตอบสนองในทางอารมณ์ก่อนจะอ่านตัวอักษรสักคำด้วยซ้ำไป

การที่ Key Message หรือหัวใจของสิ่งที่จะสื่อออกไปมีความขัดแย้งกันทั้งภาพและตัวหนังสือ เหมือนเดินคนละทิศคนละทาง ย่อมสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อแบรนด์ของคุณอย่างแน่นอน

แนวทางการใช้ภาพจาก AI ในการทำคอนเทนต์

ถ้าอย่างนั้นเราจะคว้าประโยชน์จากการสร้างภาพจาก AI อย่างมีกลยุทธ์และหาสมดุลที่สำคัญระหว่างประสิทธิภาพกับความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร คุณต้องกลับมามองที่แบรนดิ้งของคุณก่อนครับและอย่าเพิ่งโดดขึ้นขบวนรถไฟ AI ตามเทรนด์ของคนอื่นเขา ลองพิจารณาขั้นตอนการใช้ภาพดังนี้

  1. แบรนด์ต้องมาก่อนเสมอ กำหนดแนวทางภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัด ๆ (Brand Guideline) และสร้างกฏเหล็กในการใช้ Visual Element ที่ชัดเจนของแบรนด์ จากนั้นเลือกภาพที่สอดคล้องกับกฏเหล็กของคุณแบบเป๊ะ ๆ และมีวินัย เพื่อสร้างความสม่ำเสมอของงานภาพ (Visual Consistency) หากคุณจะแหกกฎแล้วล่ะก็ คุณต้องมั่นใจว่าการทำแบบนั้นจะส่งผลดีอย่างไร เพราะอะไร
  2. ลองดูภาพสต็อกก่อนตัดสินใจเจนฯภาพ เว็บภาพถ่ายสต็อกฟรีอย่าง Unsplash กับ Pexels ก็มีภาพดี ๆ ให้เลือกสรรไม่น้อยครับ หรือถ้ายังไม่เจอที่ถูกใจ ก็ลองดูเว็บภาพสต็อคที่ต้องเสียค่าบริการอย่าง

    Envato Elements, Shutterstock, 123RF, Dreamstime, Adobe Stock, iStock หรือ DepositPhotos

    ซึ่งหลาย ๆ เจ้าก็มีบริการแบบ Subscription ที่ทำให้ราคาถูกลงเยอะมาก ข้อดีของการใช้รูปจริงคือ Mood&Tone ของภาพย่อมรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์มากกว่า และยังไม่ต้องกังวลเรื่องความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่จิตใต้สำนึกมองว่าภาพ AI ทำให้แบรนด์รู้สึกมีความพรีเมี่ยมน้อยลง
  3. ดีไซเนอร์กับภาพ Abstract สำหรับการใช้ภาพที่มีแนวคิดนามธรรมต่าง ๆ (เช่น ความปลอดภัยของรหัสผ่าน, การบริการลูกค้า, ความสวยงาม ฯลฯ) เนี่ย ผมเชื่อว่า Original Work จากดีไซเนอร์สามารถสร้างงานที่มีความครีเอทีฟได้มากกว่า AI พวกเขาสามารถสร้างภาพที่ไม่เคยมีมาก่อน ใส่ความเป็นตัวเองลงไปและสื่อสารทางอ้อมแก่คนดูได้ดีกว่าปัญญาประดิษฐ์ (ซึ่งจะสร้างภาพจากผลงานที่มีอยู่บนโลกตามที่มีฐานข้อมูล)
  4. ให้ AI เป็นผู้ช่วยดีไซน์เนอร์ หากยังไม่เจอสิ่งที่ใช่ ถึงเวลาที่ AI ออกโรงล่ะครับ! ลองทดลองสร้างภาพดูเป็นแรงบันดาลใจก็ได้หรือก็คือใช้ภาพ AI เป็น Reference นั่นเอง บางทีคุณอาจจะผุดไอเดียขึ้นมา แล้วให้นักออกแบบกราฟิกปรับแต่งเพื่อให้งานโดนใจคุณ ใช้เวลาแก้ไขงานน้อยลง และสร้างประสิทธิภาพในการบรีฟงานและทำงานของคุณและกราฟฟิคดีไซน์เนอร์
  5. ใช้ AI ล้วน ๆ เลย การใช้ AI สร้างภาพมีกฎสำคัญคือ ไม่ว่าภาพจำดีแค่ไหน คุณต้องตรวจทานทุกครั้งด้วยตาตัวเองครับ ต้องให้มนุษย์เป็นผู้ตรวจสอบทุกครั้งว่าถูกต้องตามที่ต้องการและตามแบรนดิ้งของคุณหรือไม่ ความยากอันดับถัดไปคือการสร้าง Prompt ที่จะได้รูปเหมือนจริงที่สุดครับ อาจจะต้องลองผิดลองถูกหรือศึกษาเยอะหน่อย

Prompt สำหรับสร้างภาพด้วย AI และตัวอย่าง

เราอยากช่วยคุณเบื้องต้นด้วยรูปแบบ Prompt ของการสร้างภาพคนที่เราพบว่าได้ผลค่อนข้างดีครับหากคุณเลือกที่จะสร้างภาพด้วย AI ล้วน ๆ ตามแนวทางข้อ 5 นะ

Generate an photo of [เพศ], [สีหน้า], [สิ่งที่กระทำอยูู่], [สถานที่], [ประเภทของแสง], [ประเภทของกล้องถ่าย], [คุณภาพของรูป], [โฟกัสของภาพ], [Effect ภาพที่อยากใส่เพิ่มเติม], [ชื่อกล้อง ถ้าอยากได้แนวที่แปลกไป], [มุมกล้อง]
ตามด้วยสิ่งที่ไม่ต้องการกำกับด้วยคำว่า Negative prompt

ตัวอย่างจาก Prompt: Generate a photo of young woman, troubled expression, looking at her laptop, at coffee shop, rim lighting, natural lighting, looking at the camera, dslr, ultra quality, sharp focus, tack sharp, film grain, Sony A9, crystal clear, 8K UHD, highly detailed glossy eyes, high detailed skin, skin pores, wide shot, long shot, ultra realistic

Negative prompt: disfigured, ugly, bad, immature, cartoon, anime, 3d, painting, b&w, close up

ข้อสรุปของการ Generate ภาพจาก AI สำหรับใช้ในแบรนด์

ถึงความก้าวหน้าของ Generative AI ในการสร้างภาพจะน่าตื่นเต้นแค่ไหน แบรนด์กับเว็บไซต์ของคุณก็ไม่ควรพึ่งพาความสามารถของ AI ล้วน ๆ ครับ เรื่องของ Visual Element ไม่ใช่เรื่องของ “ภาพสวย ๆ“ เท่านั้น แต่มันเป็นเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยงกับคนดูผ่านความสม่ำเสมอซึ่งนี่ยังไม่ใช่สิ่งที่ AI เชี่ยวชาญแม้แต่น้อย สิ่งที่อยากบอกคือ อย่าปฏิเสธ AI โดยสมบูรณ์เพราะคุณจะมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่าคู่แข่ง แต่กลับกัน คุณต้องศึกษาและเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งจนรู้ข้อจำกัดของ AI เมื่อนั้นคุณจะรู้ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ และนำมาปรับใช้ได้รวดเร็วกว่าใครเขาเพื่อสร้าง Business Competitiveness

สุดท้ายนี้ การจัดลำดับสำคัญให้กับรายละเอียดเล็ก ๆ และความซื่อสัตย์ต่อ Brand Guideline หรืออัตลักษณ์องค์กรของคุณคือสิ่งสำคัญที่สุด ในโลกที่ AI เยอะขึ้นและคนใช้งานเยอะจนเกินควบคุม คนจะโหยหาความเป็นมนุษย์มากขึ้น และนี่คือความจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครับ

แชร์คอนเทนต์ให้ทุกคนได้อ่าน

โพสต์อื่นที่น่าสนใจ